Solar-Rooftop โครงการบรรเทาค่าใช้จ่ายการใช้ไฟฟ้า

13.08.2024

ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาทุกท่านเป็นอย่างไรกันบ้างครับ อุณหภูมิที่สูงที่สุดในช่วงนั้นอยู่ที่ราว ๆ 44.5 องศาเซลเซียส หลายท่านคงเลือกที่จะเปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อหลีกหนีจากสภาพอากาศที่ร้อนอย่างสุดขั้วนี้ หากแต่ความสบายในครั้งนี้ย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย นั่นคือใบเรียกเก็บเงินค่าไฟที่สูงมาก ทำให้หลายครอบครัวเริ่มที่จะหันมาพึ่งพาพลังงานสะอาดและผู้คนส่วนใหญ่ก็มีทิศทางในการเลือกใช้ไปในทิศเดียวกันอย่าง พลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) ซึ่งพลังงานทางเลือกนี้ทำให้หลายครอบครัวไม่ได้รับผลกระทบจากค่าไฟที่สูงเหมือนครัวเรือนอื่น

หากผมจะบอกกับทุกท่านว่าการเลือกใช้พลังงานทดแทนในครั้งนี้สามารถช่วยลดราคาค่าไฟได้แล้วยังสามารถขายคืนให้กับภาครัฐได้อีกด้วย

โดยโครงการ Solar Rooftop ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาบ้านเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายไฟฟ้าที่เหลือให้กับการไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และเป็นหนึ่งในวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการใช้พลังงานที่ยั่งยืน

รายละเอียดโครงการ

โครงการนี้มีระยะเวลาเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยมีค่าดำเนินการอยู่ที่ 2,000 บาท (ไม่รวมภาษี) ซึ่งการไฟฟ้าจะรับซื้อไฟฟ้าที่เหลือจากการผลิตในอัตรา 2.20 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 10 ปี จำนวนไม่เกิน 90 เมกะวัตต์

ขั้นตอนส่งเอกสารการสมัครเข้าร่วมโครงการ

1. ลงทะเบียน ผู้สนใจสามารถสมัครผ่านระบบออนไลน์ของ PPIM โดยเข้าไปที่ เว็บไซต์โครงการ

2. เตรียมเอกสาร ผู้สมัครต้องเตรียมเอกสารที่จำเป็น ได้แก่ บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน และเอกสารการเป็นเจ้าของอาคาร

3. กรอกข้อมูล กรอกแบบฟอร์มสมัครผ่านระบบออนไลน์ พร้อมแนบเอกสารที่กำหนด

4. ตรวจสอบและยืนยัน ตรวจสอบข้อมูลที่กรอกและเอกสารที่แนบให้ถูกต้อง แล้วส่งใบสมัคร

5. ติดตามผล หลังจากส่งใบสมัคร สามารถติดตามสถานะการสมัครผ่านระบบ PPIM

ข้อดีของการเข้าร่วมโครงการ

  1. ลดค่าใช้จ่าย ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ลดค่าไฟฟ้ารายเดือน
  2. สร้างรายได้ ขายไฟฟ้าเหลือใช้ให้กับการไฟฟ้า
  3. ส่งเสริมพลังงานสะอาด ลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

ขั้นตอนการดำเนินงาน

  1. การติดตั้งแผงโซลาร์ หลังจากที่ได้รับการอนุมัติจาก กฟภ. ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องติดต่อผู้รับเหมาที่ได้รับการรับรองเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา
  2. การเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้า หลังจากติดตั้งแผงโซลาร์ ผู้รับเหมาจะดำเนินการเชื่อมต่อระบบโซลาร์เข้ากับระบบไฟฟ้าภายในบ้านและระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้า
  3. การตรวจสอบและยืนยัน การไฟฟ้าจะดำเนินการตรวจสอบระบบและยืนยันการเชื่อมต่อว่าถูกต้องตามมาตรฐาน
  4. การรับซื้อไฟฟ้า เมื่อระบบพร้อมใช้งานและผ่านการตรวจสอบแล้ว การไฟฟ้าจะเริ่มรับซื้อไฟฟ้าที่เหลือจากการผลิตในอัตราที่กำหนด

โครงการ Solar Rooftop เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพลังงานที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและลดการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาบ้านไม่เพียงแต่เป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน แต่ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง

ทุกท่านสามารถตรวจสอบคุณสมบัติต่าง ๆ และรายละเอียดโครงการจากลิงก์ต่อไปนี้

 Power Producer Information Management System (PPIM) (pea.co.th)

Pisit Poocharoen
Former field engineer seeking to break free from traditional learning frameworks. อดีตวิศวกรภาคสนามที่ต้องการหลุดออกจากกรอบการเรียนรู้แบบเดิม ๆ