Kosmo

SBSP กลุ่มดาวเทียมโซลาร์ฟาร์ม เก็บเกี่ยวพลังงานจากนอกโลก

Date Post
24.11.2022
Post Views

การเก็บเกี่ยวพลังงานจากห้วงอวกาศและส่งมายังโลกของเราอาจฟังดูเป็นแนวคิดที่ล้ำหน้าและเกินความสามารถของมนุษย์ในปัจจุบันอยู่ไม่น้อย

แต่ด้วยการวิจัยและพัฒนาที่มีความร่วมมือของรัฐบาลอังกฤษ, ภาคอุตสาหกรรมและนักวิชาการ จึงได้เกิดเป็นโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเก็บเกี่ยวพลังงานแสงอาทิตย์ในอวกาศ ‘Space Based Solar Power’

SBSP กลุ่มดาวเทียมเก็บเกี่ยวพลังงานแสงอาทิตย์

Space Based Solar Power (SBSP) เป็นการใช้กลุ่มดาวเทียมเพื่อเก็บเกี่ยวพลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศ และทำการ Beam หรือฉายส่งลงมาสู่โลก ซึ่งด้วยการทำงานในอวกาศที่สามารถรับพลังงานแสงอาทิตย์ได้อยู่ตลอดเวลานั้น ทำให้วิธีการนี้สามารถเอาชนะการใช้งานพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจเกิดความขาดช่วงได้นั่นเอง

สำหรับการใช้งานจริงนั้นมีการคาดการณ์ว่ากลุ่มดาวเทียมที่ใช้จะต้องครอบคลุมพื้นที่ในหลักสเกลขนาดกิโลเมตร ซึ่งดาวเทียมแต่ละอันจะใช้งานแผงโซลาร์เซลล์ที่มีน้ำหนักเบาพร้อมติดตั้งระบบกระจกเพื่อการรวมแสงอาทิตย์ ซึ่งจะช่วยให้สร้างกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 3.4 GW

หลังจากนั้นพลังงานที่ได้จะถูกเปลี่ยนเป็นคลื่นความถี่ไมโครเวฟ (RF Microwave radiation) ที่มีค่าความเสถียรอยู่ที่ 85% และมีการปรับความถี่ให้อยู่ที่ประมาณ 2.45 GHz เพื่อให้คลื่นสามารถเคลื่อนผ่านชั้นบรรยากาศและความชื้นในอากาศได้โดยง่าย และทำการส่งพลังงานได้สูงสุด 2.9 GW ไปยังจุดรับบนพื้นโลกและแปลงพลังงานที่ได้รับมาให้กลายเป็นไฟฟ้ากระแสตรง

ที่มาภาพ : Space Energy Initiative

ส่งพลังงานต่อเนื่องตลอดปี ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต

กลุ่มดาวเทียมที่ใช้ในการรวบรวมพลังงานนั้นจะมีการปรับมุมอยู่เสมอเพื่อให้กระจกรับแสงหันเข้าสู่ดวงอาทิตย์และเพื่อให้จุดส่งพลังงานสามารถชี้ไปยังจุดรับบนโลกได้ถูกต้องเสมอ ด้วยการปรับมุมอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ทำให้วิธีการนี้สามารถส่งพลังงานได้เต็มที่ทั้งในช่วงกลางวัน-กลางคืนตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องกังวลถึงเรื่องของฤดูหรือสภาพอากาศอีกต่อไป

และสำหรับผู้ที่กังวลว่าคลื่นสัญญาณไมโครเวฟที่ส่งลงมาบนโลกจะเกิดผลกระทบใด ๆ ขึ้นหรือไม่นั้น ก็ได้มีการระบุข้อมูลเอาไว้ว่าความเข้มของคลื่นลำแสงไมโครเวฟนั้นอยู่ที่ประมาณ 240W/m2 หรือ 1 ใน 4 ของความเข้มแสงแดดในช่วงกลางวันเท่านั้น หมายความว่าลำแสงจากกระบวนการนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกและไม่สามารถถูกนำไปใช้เป็นอาวุธได้นั่นเอง

การจะบรรลุเป้าหมายแนวคิดนี้ได้กุญแจสำคัญย่อมหนีไม่พ้นความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล นักวิชาการหรือภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีที่พร้อมจะนำไปใช้งานได้จริงในอวกาศ และจะช่วยให้รัฐบาลอังกฤษสามารถเดินหน้าทำตามคำมั่นลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์หรือ Net Zero ได้จริง

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Jirapat R.
A Content Creator with multiple interests and a fitness enthusiastic.