Superworms ยอดหนอนจอมเขมือบ ทางออกปัญหาขยะพลาสติก

Date Post
20.06.2022
Post Views

เชื่อมั้ยครับ ว่าสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ อย่างหนอนที่พบเห็นได้ทั่วไปนั้น อาจจะกลายมาเป็นทางออกใหม่ของการแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากและมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกวัน

ทุกวันนี้ไม่ว่าร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ตามตลาดทั่วไป เราก็สามารถพบเห็นการใช้งานพลาสติกกันอยู่ในชีวิตประจำวันเสมอ ไม่ว่าจะเพื่อใส่สินค้า ห่ออาหาร หรือนำมาใช้ในการผลิตสิ่งของ นั่นก็เพราะพลาสติกเป็นวัสดุที่มีราคาถูก และยังมีคุณสมบัติหลาย ๆ อย่าง ทั้งแข็งแรง ทนความร้อน มีน้ำหนักเบาและยังมีความเหนียว ทำหน้าที่เป็นฉนวนกันไฟฟ้าได้

แต่แม้จะมีคุณสมบัติมากมายเหล่านี้ พลาสติกกลับกลายมาเป็นหนึ่งในปัญหาขยะที่จัดการได้ยากในโลกเรา เพราะปริมาณการใช้งานที่มากเกินความจำเป็นของมนุษย์ และเวลาในการย่อยสลายพลาสติก ที่ใช้เวลานานถึง 400 – 450 ปี และหากเป็นโฟมก็ต้องใช้ถึง 1,000 ปี

โซโฟบัส โมริโอ “Superworms” ที่สามารถย่อยสลายพลาสติกได้

การวิจัยใหม่จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ (University of Queensland – UQ) ประเทศออสเตรเลีย ได้พบว่า หนอนโซโฟบัส โมริโอ (Zophobas morio) หรือ Superworms สามารถกัดกินและย่อยสลายพอลิสไตรีนและสไตรีนซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทของพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วโลกได้ ด้วยเอนไซม์หลายตัวในลำไส้ของหนอนเหล่านี้ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายพลาสติกและโฟมนั่นเอง

ในการทดลองนี้นักวิทยาศาสตร์ได้แบ่ง Superworms ออกเป็น 3 กลุ่มและให้อาหารด้วยวิธีที่แตกต่างกัน กลุ่มหนึ่งได้รับรำข้าวเป็นอาหาร กลุ่มสองได้รับโฟมพลาสติกพอลิสเตอรีน และอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับอาหารอะไรเลย ซึ่ง Superworms ทั้ง 3 กลุ่มสามารถดำเนินวงจรชีวิตไปจนเข้าสภาวะดักแด้ได้ และกลุ่มที่ได้รับพอลิสเตอรีนไปมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย แม้จะน้อยกว่ากลุ่มแรกที่ได้รับรำข้าวเป็นอาหารก็ตาม

หนอนโซโฟบัส โมริโอกัดกินพลาสติกพอลิสไตรีน ที่มาภาพ : Microbiology Society

เหล่านักวิจัยต่างก็หวังว่าการรีไซเคิลทางชีวภาพที่หนอนเหล่านี้นำมา จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการรีไซเคิลขยะพลาสติกและลดพื้นที่ที่ต้องใช้กับหลุมฝังกลบขยะบนโลกเราได้ แม้ว่าการกำจัดขยะพลาสติกทั้งหมดด้วย Superworms อาจจะยังเป็นไปไม่ได้ในทันที ด้วยข้อจำกัดทั้งในด้านปริมาณของพลาสติกที่ถูกผลิตออกมา และข้อจำกัดของการเลี้ยงดู, เพาะพันธุ์ตัวหนอน แต่งานวิจัยนี้ก็ได้พิสูจน์ว่าเราสามารถช่วยกันหาหนทางในการกำจัดและรีไซเคิลขยะพลาสติกได้ แทนการนั่งอยู่เฉย ๆ และรอให้พลาสติกย่อยสลายไปเองในเวลา  400 – 1,000 ปี 

แต่ไม่ว่าจะมีหนอนหรือสิ่งมีชีวิตอะไรก็ตามที่สามารถกินขยะพลาสติกไปได้ ปัญหาเหล่านี้ก็คงจะไม่หมดไปอย่างแน่นอนหากไม่มีการช่วยกันลดปริมาณขยะ และกระตุ้นจิตสำนึกในการรีไซเคิลและการเลือกใช้วัสดุของมนุษย์เรากันเอง เพราะฉะนั้นก็อย่าลืมช่วยกันแยกขยะและลดการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็นลงกันนะครับ

ข้อมูลอ้างอิง : https://www.microbiologyresearch.org/content/journal/mgen/10.1099/mgen.0.000842

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Jirapat R.
A Content Creator with multiple interests and a fitness enthusiastic.
Digitech2024