ยุคใหม่แห่งการบินโลก เหินฟ้าด้วยพลังงานสะอาด

Date Post
26.05.2022
Post Views

นอกจากเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่บนฟ้าที่พวกเราคุ้นตากันแล้ว ในปัจจุบันตัวเลือกในการบินนั้นมีเพิ่มขึ้นมากมายทั้งประเภทของเครื่องบินและเชื้อเพลิงที่ใช้งาน

HY4 เครื่องบินขับเคลื่อนเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนขนาดสี่ที่นั่ง ถูกออกแบบโดยสถาบันอุณหพลศาสตร์วิศวกรรม DLR ของศูนย์การบินและอวกาศประเทศเยอรมนี ทำการบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559 จากสนามบิน Stuttgart ประเทศเยอรมนี ได้กลายมาเป็นหนึ่งในตัวอย่างว่าเราจะสามารถเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดในการบินมากขึ้นได้อย่างไร แต่วิธีการเหล่านี้ต่างก็ยังเป็นการทดลองขั้นต้นที่ยังไม่สามารถขึ้นไปเทียบกับเหล่าเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่บนท้องฟ้าได้

Pipistrel Velis Electro, E-Aircraft ลำแรกของโลกที่ได้รับการรับรอง และ eMagic One เครื่องบินปีกคู่จากเยอรมนีที่มาพร้อมสโลแกน “แม้แต่นกยังต้องอิจฉา!” ก็เป็นอีกตัวอย่างของเครื่องบินไฟฟ้าและเครื่องบินไฮบริดอีกหลายลำที่ช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนที่ยั่งยืนด้วยระบบแบตเตอรี่ในรายการนวัตกรรมการบิน

ในปัจจุบัน มีเพียงเครื่องบินไฟฟ้าขนาดเล็กซึ่งสามารถรับผู้โดยสารได้น้อยเท่านั้นที่พอจะมีบทบาทในการบินปัจจุบัน เพราะปัญหาจากพลังงานในการบินระยะทางไกลนั่นเอง Markus Fischer, Head of Aviation ของ German Aerospace Center (DLR) กล่าวว่า “ในการจะขับเคลื่อนเครื่องบินไฟฟ้าหรือเครื่องบินไฮบริดให้บินได้ระยะทางหลายพันกิโลเมตรนั้น แบตเตอรี่จะต้องมีความหนาแน่นของพลังงานที่สูงขึ้นอย่างมากในอนาคต แต่ก็หมายความว่าแบตเตอรี่จะมีน้ำหนักมาก” น้ำหนักของเครื่องบินส่วนใหญ่นั้นมาจากแบตเตอรี่ซึ่ง Markus กล่าวย้ำว่าปัญหานี้คงจะยังไม่หายไปในเร็ว ๆ นี้

เครื่องบิน HY4 ที่มาภาพ : DLR, CC-BY 3.0

ใช้พลังงานหมุนเวียน SAF มาช่วยในการบิน

การนำพลังงานหมุนเวียนเข้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการบิน จะช่วยเพิ่มสเกลของการบินด้วยพลังงานสะอาดให้มากขึ้นได้ ปัจจุบันการนำเชื้อเพลิงหมุนเวียนเข้ามาใช้ในการบินจะถูกเรียกว่า Sustainable Aviation Fuels หรือ SAF นั่นเอง SAF ถูกผลิตขึ้นจากขยะอินทรีย์ต่าง ๆ เช่น น้ำมันที่ใช้แล้วหรือเศษเนื้อและปลาที่เหลือทิ้ง ซึ่งมีประสิทธิภาพในการใช้งานที่ดี แต่ปริมาณที่สามารถผลิตได้นั้นยังไม่พอนำไปใช้ได้จริงอย่างกว้างขวางมากนัก ในปัจจุบัน SAF สามารถทดแทนเชื้อเพลิงทั่วไปในการบินได้แค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นจากทั่วโลก

นอกจากนี้ราคาของ SAF ก็สูงกว่าเชื้อเพลิงทั่วไปประมาน 3-7 เท่าเลยทีเดียว แต่ทาง Markus เชื่อว่าในอนาคตภายในปี 2030 นั้น การใช้งาน SAF ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ และเชื่อว่าจะขึ้นไปได้ถึง 5 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ในอนาคตหากการผลิต SAF สามารถทำได้ในปริมาณที่มากขึ้นและมีราคาถูกลงกว่านี้แล้วละก็ SAF จะกลายมาเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับพลังงานทางเลือกใหม่ของเชื้อเพลิงสำหรับการบินอย่างแน่นอน

ข้อมูลเครื่องบิน HY4 : https://www.aerospace-technology.com/projects/hy4-aircraft/

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Jirapat R.
A Content Creator with multiple interests and a fitness enthusiastic.
Store Master - Kardex