โซลูชันระบบอัตโนมัติจากไต้หวันสู่ Digital Transformation ส่งต่อคุณค่าและความคุ้มค่าที่ปฏิเสธไม่ได้

Date Post
15.07.2021
Post Views

โซลูชันระบบอัตโนมัติในปัจจุบันไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ในการผลิตที่กำลังมาแรงเท่านั้น แต่ผลลัพธ์ของการใช้งานสามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจนอีกด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความรวดเร็ว ความแม่นยำ หรือความโปร่งใส แต่เทคโนโลยีเหล่านี้มาพร้อมกับความต้องการด้านต้นทุนและทักษะระดับสูงซึ่งกลายเป็นกำแพงในการเข้าถึงสำหรับผู้ประกอบการไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีระดับพรีเมียมแบรนด์ยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่นที่พบเห็นกันได้บ่อยครั้ง แต่ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีอัตโนมัติจากไต้หวันก็มีประสิทธิภาพในการทำงานไม่ด้อยไปกว่ากันทั้งยังมีความคุ้มค่าและสามารถเข้าถึงได้ง่ายดายกว่าอีกด้วย

จากเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่บีบบังคับให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะด้วยความต้องการในการลดต้นทุนหรือการแก้ไขปัญหาที่มีในสายการผลิต ซึ่งผู้ประกอบการไม่น้อยต้องถอนหายใจกันยาว ๆ เมื่อเจอกับต้นทุนที่ใช้ในการทำ Digital Transformation ที่สูงลิบลิ่วและอาจมีค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็นแฝงอยู่โดยไม่รู้ตัว หลายครั้งเทคโนโลยีเหล่านี้กลับมีความซับซ้อนในการใช้งาน หรือระบบมีความจำเพาะเจาะจงเกินไปจนบูรณาการเข้ากับอุปกรณ์อื่น ๆ ได้ยาก ทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้ยากและไม่เป็นใจสำหรับ SME ที่มีทรัพยากรจำกัด 

‘ต้นทุน’ และ ‘ทักษะ’ กำแพงสำหรับ Digital Transformation

แน่นอนว่าของใหม่ใครก็อยากได้ ของที่ดีกว่าใครก็อยากเป็นเจ้าของ ยิ่งเป็นอุปกรณ์ทำเงินด้วยแล้วยิ่งมีความสำคัญ แต่ทว่าการทำ Digital Transformation หรือแม้แต่การลงทุนขยายสายการผลิตเดิมก็ตามแต่ล้วนต้องใช้เงินทุนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่องจักร อุปกรณ์ โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการฝึกทักษะแรงงานที่ต้องใช้ในการควบคุมเครื่อง ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้เมื่อรวมกับการที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ แผนการ Digital Transformation ของโรงงานก็ต้องพับเก็บไปแทบทุกราย

แม้จะมีกำแพงอุปสรรคขวางกั้นต่าง ๆ แต่ปัญหาที่เพิ่มขึ้นตามช่วงเวลาก็ไม่ได้น้อยลงแต่อย่างใด เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นจากแรงงานในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ในประเด็นค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความผิดพลาดจากการทำงานของมนุษย์ (Human Error) ซึ่งทำให้เกิดการทำงานที่ไม่สม่ำเสมอ หรือการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานทักษะ (Skilled Labour) ซึ่งการหาแรงงานมาทดแทนนั้นเป็นเรื่องยากลำบากและหากใช้การฝึกฝนแรงงานเดิมขึ้นมาแทนที่อาจใช้เวลานานทั้งยังมีโอกาสย้ายงานใหม่เมื่อทักษะเกิดความเชี่ยวชาญในระดับหนึ่งแล้ว

นอกเหนือไปจากปัญหาด้านแรงงานแล้ว ผู้จัดการโรงงาน ระดับบริหาร หรือเจ้าของโรงงานอาจต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่ไม่อาจระบุได้ ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่การปกปิดข้อมูลของระดับปฏิบัติการเอง การเกิดปัญหาในจุดที่เข้าไม่ถึง หรือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการไม่สามารถเก็บข้อมูลที่สำคัญต่อการประเมินเอาไว้ได้ รวมไปถึงการจัดเก็บข้อมูลแบบแอนะล็อก (Analog) หรือการจัดเก็บข้อมูลเป็นกายภาพ เช่น กระดาษเอกสารต่าง ๆ หรือภาพถ่าย ซึ่งสามารถเกิดความเสียหาย ตลอดจนการสูญหายได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งยังเกิดความล่าช้าในการดำเนินการจากการเข้าถึงข้อมูลที่ใช้เวลามาก

ด้วยข้อจำกัดด้านทักษะแรงงาน ปริมาณแรงงาน รวมถึงการบูรณาการข้อมูลที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงส่งผลให้ความสามารถในการผลิตนั้นไร้ซึ่งความยืดหยุ่น แล้ว ‘ความยืดหยุ่น’ นั้นสำคัญต่อการผลิตอย่างไร? ในยุคที่การผลิตยุคปัจจุบันเกิดปัญหาการขาดแคลนซัพลายเชน และความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับตัวตามสถานการณ์และเงื่อนไขที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้ในสภาพธุรกิจยุคปัจจุบัน

ด้วยปัจจัยจากสถานการณ์ของการผลิตในปัจจุบันที่คอยไล่หลังผู้ประกอบการมาอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ทางออกที่ยั่งยืนอย่างการผสมผสานเทคโนโลยีอัตโนมัติกลับกลายเป็นกำแพงที่สูงชัน ผู้ประกอบการจึงเหมือนกับถูกบีบให้เข้าใกล้ห้วงลมหายใจสุดท้ายของธุรกิจ จากกำแพงของต้นทุนและทักษะ

ผู้เชี่ยวชาญและสื่อจำนวนมากต่างเห็นตรงกันว่าแท้ที่จริงแล้วการลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Fully Automated) เสมอไป เนื่องจากความต้องการและปัญหาในการผลิตแต่ละที่แตกต่างกันไป การเลือกปรับปรุงหรือการสร้างโครงการนำร่องนั้นดูสมเหตุสมผลกับการลงทุนมากที่สุด และเมื่อผู้ประกอบการเข้าใจความต้องการในการใช้งานของตัวเองอย่างกระจ่างแจ้งแล้วเมื่อนั้นการเลือกลงทุนเทคโนโลยีที่เหมาะสมจึงเกิดขึ้นได้อย่างคุ้มค่าไม่เพ้อฝันเกินตัว

Digital Transformation ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว

จากความท้าทายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ตลอดจนการพยายามสนับสนุนและผลักดันของภาครัฐจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า Digital Transformation ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนขึ้นอยู่กับเวลาของแต่ละโรงงานเท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะแตกต่างกันไปตามความต้องการของแต่ละธุรกิจ และคำตอบสุดท้ายจะไม่ใช่ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบอย่างแน่นอนเนื่องจากปัจจัยอันหลากหลายไม่ว่าโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การเมือง ต้นทุน และทักษะสำหรับประเทศไทย

แล้ว Digital Transformation ในต่างประเทศนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง? จากข้อมูลของ PWC ในปี 2021 ชี้ให้เห็นว่า 90% ของผู้ร่วมทำการทดสอบเชื่อว่าการลงทุนในดิจิทัลจะสร้างโอกาสให้กับธุรกิจมากกว่าความเสี่ยง และ 98% ให้เหตุผลว่าต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งตรงกับข้อมูลของ PTC ที่ชี้ให้เห็นว่าเหล่าผู้บริหารนั้นมองห็นผลลัพธ์จาก Digital Transformation ว่าสามารถยกระดับการทำงาน (40%) สินค้าออกสู่ตลาดได้เร็วยิ่งขึ้น (36%) และสินค้านั้นจะตรงกับความคาดหวังของผู้บริโภค (35%) ตอกย้ำให้เห็นว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางแน่นอน

นอกจากนี้ข้อมูลจาก Prophet ยังระบุอีกว่ากำแพงในการ Transformation นั้นอยู่ในส่วนของต้นทุนถึง 28% และ ROI ที่อาจเกิดขึ้นได้ยากกว่า 29% ความท้าทายเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากแหล่งข้อมลูกจากต่างประเทศที่ค่าแรงมีราคาสูง ผู้ให้บริการหรือเจ้าของเทคโนโลยีนั้นมักจะเป็นแบรนด์ดังซึ่งมีความต้องการและเงื่อนไขของระบบมากมาย แต่หากมองกลับมาในภูมิภาคเอเชียของเราเองความท้าทายเหล่านี้อาจกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นด้วยทางเลือกของเครื่องจักรจากญี่ปุ่น จีน หรือไต้หวัน

ถ้าหากพิจารณาโซลูชันจากยุโรปหรืออเมริกาจะพบว่ามีเงื่อนไขความต้องการของระบบสูงและซับซ้อน เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องจึงต้องมีมาตรฐานอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน นำมาซึ่งต้นทุนที่ทบทวีขึ้นตามความต้องการในการรันระบบ เทคโนโลยีในเอเชียอย่างญี่ปุ่นจึงเข้ามามีบทบาทสูงในประเทศไทย เทคโนโลยีจากญี่ปุ่นนั้นถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีคุณภาพดีแต่ไม่ได้อยู่ระดับเดียวกันหรือไปไกลกว่าเทคโนโลยีจากยุโรปแต่ก็มีต้นทุนที่น้อยกว่า แต่สำหรับผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นเองก็มีราคาแพงโขอยู่ทั้งยังมักจะสนับสนุนการทำงานกับระบบในเครือตัวเองหรือชาติเดียวกันเสียมาก เทคโนโลยีจากจีนจึงเป็นที่จับตามองสำหรับผู้ประกอบการที่ทุนไม่สูงนัก แต่ในท้ายที่สุดแล้วเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีที่ไม่ได้มีการรับประกันคุณภาพหรือมาตรฐานสากลอย่างเป็นทางการก็ไม่อาจสร้างความยั่งยืนให้การลงทุนและการบริหารธุรกิจ เทคโนโลยีแบรนด์จีนโนเนมก็ไม่อาจส่งมอบคุณค่าหรือความคาดหวังใด ๆ ให้ผู้บริโภคได้แม้จะมีราคาที่ล่อตาล่อใจก็ตามที บทสรุปของเงื่อนไขเหล่านี้จึงสาดแสงส่องไปยังเทคโนโลยีจากไต้หวันที่พร้อมด้วยคุณภาพและราคาที่สะดวกใจสบายกระเป๋าถ้าจะลงทุน

ในวันนี้ต้องยอมรับว่าเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีจากไต้หวันนั้นมีราคาที่สูงกว่าราคาจากจีนไม่มาก แต่อัดแน่นด้วยมาตรฐานและนวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง หากพูดเรื่องความคุ้มค่าหรือต้นทุนรวมแล้วล่ะก็เทคโนโลยีและเครื่องจักรจากไต้หวันจะต้องติดอันดับต้น ๆ อย่างแน่นอน และด้วยความคุ้มค่าที่กล่าวมาทำให้การเริ่มต้น Transformation หรือสร้างโครการนำร่องจึงเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย ด้วยบันไดขั้นแรกในเรื่องของต้นทุนที่ถูกกว่าแต่คุณภาพนั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าแบรนด์ญี่ปุ่น

หากคุณลองจินตนาการถึงงานง่าย ๆ อย่างกิจกรรมยอดฮิตในการหยิบชิ้นส่วนและวางลงในบรรจุภัณฑ์หรือการคัดแยกสินค้า สิ่งที่โรงงานจะต้องมีสำหรับโครงการนำร่องเล็ก ๆ แค่สถานีเดียวอาจต้องประกอบไปด้วยระบบเครือข่ายพื้นฐานซึ่งอาจจะเป็นระบบ Ethernet สำหรับการเริ่มใช้งาน แล้วคุณต้องมาเลือกต่อว่าคุณจะใช้แขนกลแบบใด ใช้สายพานแบบไหน ใช้กล้องจากแบรนด์อะไรเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถมองเห็นสิ่งที่ต้องการได้ ตลอดจนระบบควบคุม ซอฟต์แวร์ ระบบความปลอดภัยของไฟฟ้า ไปจนถึงความต้องการในการจัดการว่าจะต้องสามารถเข้าถึงได้ผ่านเครือข่ายภายนอกไหม หรือใช้งานได้เฉพาะสถานีการทำงาน การจัดเก็บข้อมูลสำรองข้อมูลเป็นอย่างไร จะใช้อะไร ฯลฯ ซึ่งถ้าทั้งหมดนี้คุณใช้เทคโนโลยีจากเยอรมันต้นทุนจะเป็นเท่าไหร่ ถ้าลดระดับลงมาเป็นญี่ปุ่นจะเหมาะกับทั้งความต้องการและงบประมาณหรือไม่? ในท้ายที่สุดแล้วความต้องการใช้งานของผู้ประกอบการเองจะเป็นคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ ซึ่งก้าวแรกที่ดีควรจะเป็นการก้าวเดินเพื่อเรียนรู้การใช้งาน การปรับตัวของทีมงาน ตลอดจนความสามารถในการสนับสนุนและบูรณาการระบบอย่างใกล้ชิด

แน่นอนว่าผู้ประกอบการทุกคนอยากได้สิ่งที่ดีที่สุด ในราคาที่ถูกที่สุด หรือคุ้มที่สุด ซึ่งต้องบอกว่านาทีนี้เทคโนโลยีหรือระบบอัตโนมัติจากไต้หวันสามารถตอบสนองเงื่อนไขความต้องการเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา เทคโนโลยี หรือโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง ทำให้การลงทุนเทคโนโลยีจากไต้หวันนั้นเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ประกอบการในการทำ Digital Transformation หรือการเติบโตตามแนวทางของอุตสาหกรรม 4.0 แต่ถ้าใครยังไม่แน่ใจว่าเทคโนโลยีจากไต้หวันนั้นมีอะไรน่าสนใจบ้าง และจะตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการได้อย่างไร เราลองมาทำความรู้จักกับผู้ผลิตชั้นแนวหน้าจากไต้หวันบางส่วนกันก่อนครับ

5 โซลูชันสำหรับโลกการผลิตอัตโนมัติจากไต้หวัน

หลายคนอาจเกิดคำถามว่าทำไมเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีการผลิตจากไต้หวันถึงน่าสนใจ? ถ้าใครที่มีอายุมากหน่อยอาจจะพอนึกออกว่าแท้จริงแล้วไต้หวันนั้นมีชื่อเสียงด้านการผลิตมานานหลายสิบปี มีการใช้งานเครื่องจักรจากไต้หวันทั่วโลก ทั้งยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญสำหรับกลุ่มเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์อีกด้วย เช่น โรงงาน TSMC หรือแม้แต่กระทั่งผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนรายยักษ์ อย่าง ASUS หรือ HTC ต่างก็เริ่มต้นที่ไต้หวัน ตอกย้ำความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์หรือถ้ามองไปให้ไกลกว่านั้น ‘ไต้หวัน’ มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาอย่างเนิ่นนาน

หากต้องพิจารณา Ecosystem สำหรับระบบอัตโนมัติหรือโครงสร้างพื้นฐานสำหรับดิจิทัลในโรงงานอุตสาหกรรมจะพบว่ามีรายละเอียดปลีกย่อยอยู่มากมาย ซึ่งไต้หวันเองก็มีผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างครบครันตั้งแต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ซอฟต์แวร์ หุ่นยนต์/แขนกล ไปจนถึง IIoT หรือ AI สำหรับงานอุตสาหกรรมก็มีเช่นกัน และในวันนี้เราอยากชวนคุณทำมารู้จักกับ 5 โซลูชันโดดเด่นจาก 5 ผู้ผลิตไต้หวันที่สามารถสนับสนุนความต้องการในการทำ Digital Transformation หรือการใช้งานระบบอัตโนมัติสำหรับการผลิต และเรามาเริ่มกันจากเทคโนโลยีที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิตยุคใหม่ ‘ระบบเครือข่าย’ กันก่อนครับ

PLANET

หลายคนอาจมองข้ามสิ่งที่เรียกว่าโครงสร้างพื้นฐานสำหรับโรงงานดิจิทัลที่ดูเผิน ๆ อาจไม่มีอะไรหวือหวา แต่แท้จริงแล้วความสำเร็จของทั้งระบบเกิดขึ้นได้จากโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเชื่อมต่อที่มีคุณภาพ ซึ่ง Ms. Phoebe Chen ผู้จัดการฝ่ายขายส่วนภูมิภาคจาก PLANET ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเชื่อมต่อยุคใหม่ “เพราะการเชื่อมต่อ 5G เป็นสิ่งสำคัญใน Smart City และธุรกิจต่าง ๆ โดยเราได้พัฒนาเทคโนโลยีที่รองรับ 5G และ Wifi 6 ขึ้นมาเพื่อให้การเชื่อมต่อนั้นเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยในโลกยุคใหม่มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมต่อที่มีความเสถียรจะช่วยให้การส่งต่อข้อมูลเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น และสามารถตอบสนองกิจกรรมที่กำลังใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้งาน 5G หรือ 4G สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมนั้นจะเป็นเหมือนช่องทางในการรับประกันการส่งต่อข้อมูลว่าสามารถเกิดขึ้นได้แบบ Real-time แม้ว่าระบบ Local Network จะล่ม หรือผู้ให้บริการสัญญาณเครือขายอินเทอร์เน็ตเกิดการขัดข้องก็ตาม ซึ่งเงื่อนไขในการใช้งานเทคโนโลยี 5G นี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศและพื้นที่ที่สัญญาณครอบคลุมด้วยเช่นกัน”

หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจจาก PLANET คือ Industrial 4G LTE Cellular Wireless Gateway ที่รองรับการใช้งานซิมคู่ที่ทำให้มั่นใจได้ว่าแม้สัญญาณจากผู้ให้บริการรายหนึ่งมีปัญหาก็สามารถเลือกใช้ผู้ให้บริการรายอื่นเพื่อส่งต่อข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง โดย ICG-2515W-LTE Series เป็นเกทเวย์ IoT รองรับการเชื่อมต่อแบบ 5-port Gigabit, Dual-band 802.11ac Wi-Fi, 4G LTE, GSM หรือ PoE+ สามารถใช้งาน VPN หลากหลาย พร้อม IPSec, PPTP, L2TP, GRE, IP Tunnel, SSL และ VPN Failover ทั้งยังมีระบบเพื่อความปลอดภัยของเครือข่าย SPI firewall และป้องกันการล่วงล้ำ ด้วยเคสโลหะที่มาพร้อมมาตรฐานการป้องกัน IP30 ทำให้สามารถทำงานได้ภายใต้อุณหภูมิ -35 ถึง 75 องศาเซลเซียส

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวทำให้ ICG-2515W-LTE Series สามารถตอบสนองต่อเซนเซอร์ต่าง ๆ ในโรงงานที่มีจำนวนมากรวมถึงอุปกรณ์สวมใส่ยุคใหม่เพื่อทำการส่งต่อข้อมูลอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง สนับสนุนการทำงานของโรงงานอัตโนมัติตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนต่าง ๆ เช่น การซ่อมบำรุงระยะไกลผ่านกล้องเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

TOYO

ต่อเนื่องจากระบบเครือข่ายพื้นฐานแล้วโครงสร้างที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวสำหรับการผลิตยุคใหม่ไม่ว่าจะเป็นระบบรางหรือมอเตอร์สำหรับฐานหุ่นยนต์ คอนโทรลเลอร์ ไปจนถึงกริปเปอร์ไฟฟ้าซึ่งแบรนด์ TOYO จากไต้หวันอาจเป็นแบรนด์ที่หลายคนอาจคุ้นเคยเป็นอย่างดี ซึ่ง TOYO เองเติบโตมาจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายแกนให้กับ YAMAHA ซึ่งเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับระดับสากล ด้วยความสามารถในการดูแลและสนับสนุนผู้ใช้งานที่ดีเลิศทำให้ YAMAHA ให้การสนับสนุนร่วมหุ้นทำการผลิตแกน Actuator และวิจัยด้วยตัวบริษัทเองในเวลาต่อมา

“ด้วยการที่เราผลิตเองทั้งหมดทำให้เราสามารถควบคุมคุณภาพเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จุดเด่นที่สำคัญที่สุดของผลิตภัณฑ์จาก TOYO คือ ความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนแบบ Custom ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า เช่น รูพินที่ต่างกันเราก็สามารถปรับแต่งได้ ซึ่งลูกค้าในไต้หวันส่วนใหญ่ล้วนมีความต้องการในการปรับแต่งทั้งสิ้น แตกต่างจากแบรนด์ญี่ปุ่นที่ขายรุ่น Standard เป็นหลักซึ่งหากต้องการรุ่น Custom จะใช้เวลาดำเนินการผ่านขั้นตอนที่ยาวนาน หากพูดถึงเรื่องมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพิเศษหรือรุ่นมาตรฐาน TOYO ก็มีการรับรองกระบวนการผลิตตามมาตรฐานสากล เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในห้อง Clean Room ก็จะมีการทดสอบรว่มกับสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีเอกสารรับประกันการทดสอบทำให้สามารถรับรองความมั่นใจได้เป็นอย่างดี” คุณชัยวัฒน์ ศุภอภิรดีธรรม ผู้เชี่ยวชาญจาก TOYO กล่าวถึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์

หากเปรียบเทียบตัวแกน Actuator รุ่นมาตรฐานของ TOYO กับแบรนด์อื่นในตลาดจะพบว่าความยาวของแกนนั้นสามารถทำได้มากกว่าคู่แข่ง ซึ่งความยาวสูงสุดที่ทำได้นั้นอยู่ที่ 1 เมตร ในขณะที่คู่แข่งสามารถผลิตได้เพียง 500 – 600 มม. นอกเหนือจากแกน Actuator แล้วผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจจาก TOYO อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กริปเปอร์ อุกรณ์สำหรับหยิบจับชิ้นงานซึ่งมีทั้งแบบติดตั้งในเครื่องจักรและชนิดสำหรับต่อ Plug&Play กับ Cobot ได้เลย หากใครใช้ TM Robot ระบบก็สามารถบูรณาการใช้งานได้ทันทีอย่างง่ายดายด้วยเช่นกัน 

สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สนใจ Digital Transformation คุณชัยวัฒน์ให้คำแนะนำสำหรับการเริ่มต้นว่าต้องประเมินความต้องการของโรงงานจริง ๆ เสียก่อนว่าอยากลดต้นทุนหรืออยากเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ต้องรู้เสียก่อนว่าอยากแก้ปัญหาจุดไหน แนะนำว่าติดต่อกับผู้ผลิตเครื่องจักรหรือ SI เพื่อให้สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างถูกต้องและยั่งยืน

TECHMAN Robot

หากใครกำลังมองหาหุ่นยนต์สำหรับเริ่มต้นใช้งานในโรงงาน ต้องบอกว่าหุ่นยนต์ Cobot นั้นถือเป็นตัวเลือกที่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง เนื่องจากการใช้งาน Cobot นั้นเรียกได้ว่าสะดวกและง่ายดายกว่าการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วไปอย่างมาก ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้การเขียนโปรแกรมเพื่อใช้งานแต่สามารถใช้ Pendant และระบบการสอนเพื่อออกแบบการทำงานได้อย่างง่ายดาย ซึ่ง TECHMAN Robot หรือ TM Robot นั้นถือเป็นหุ่นยนต์ที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการเริ่มต้นก็ว่าได้

Cobot จาก TM Robot นั้นมีจุดเด่นอยู่ที่ความง่ายดายในการใช้งานเนื่องจากการออกแบบระบบคำสั่งใช้ Flowchart-based ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วในเวลา 1 วัน โดยไม่ต้องมีพื้นฐานมาก่อน แตกต่างจากการเขียนโปรแกรมหรือ Coding ที่ต้องการทักษะขั้นสูงและใช้เวลาเรียนรู้นาน นอกจากนี้จุดเด่นที่สำคัญอีกประการ คือ เป็นหุ่น Cobot แบรนด์เดียวที่ถูกออกแบบมาพร้อมกับกล้องเพื่อใช้งานควบคู่กับแขนกลเรียกว่าเป็น Built-in พร้อมใช้ทั้งโซลูชัน โดยเทคโนโลยี Machine Vision ของ TM Robot ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องยาวนานด้วยทีมวิจัยและพัฒนากว่า 200 ชีวิต สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี Machine Vision ที่ผูกติดอยู่กับหุ่นยนต์อย่างใกล้ชิด

“เพราะ Smart Factory เป็นสิ่งสำคัญในการแข่งขันยุคปัจจุบัน แม้ว่าประเด็นนี้จะดูห่างไกลออกไปแต่แท้ที่จริงแล้วมันใกล้ตัวมากกว่าที่คิดมาก เพราะเราได้เรียนรู้อะไรมากมายจากโรงงานที่ใช้ระบบอัตโนมัติในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบเองก็มีข้อจำกัดเช่นกัน ไม่ว่าจะเรื่องต้นทุน การใช้งาน หรือความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นจริงก็ตาม ซึ่งผมคิดว่าระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบเองนั้นก็มีข้อดีภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม แต่สำหรับ Smart Factory ในความคิดของผมเองนั้นไม่ได้จำเป็นต้องเป็นระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบเสมอไป แต่หลักใหญ่ใจความของ Smart Factory นั้นประกอบขึ้นมาจาก 2 สิ่ง ได้แก่ หุ่นยนต์อัจฉริยะ (Smart Robotics) ซึ่งความอัจฉริยะนั้นต้องมาจากความเรียบง่ายในการใช้งาน การติดตั้ง การออกแบบคำสั่ง และอีกปัจจัย คือ ระบบของโรงงาน การเชื่อมต่อหุ่นยนต์ เครื่องจักร และเทคโนโลยีต่าง ๆ ผ่านระบบเพื่อให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กันกับหุ่นยนต์อัจฉริยะ ซึ่งภายใต้นิยามนี้ Smart Factory ก็สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการผสมผสานการทำงานระหว่างแรงงานและ Cobot ที่อยู่บนพื้นฐานแนวคิดดังกล่าวได้ และ TM Robot เองมีซอฟต์แวร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเชื่อมต่อหุ่นยนต์กับระบบของเครื่องจักร ทำให้เกิดความสะดวกในการใช้งาน การบูรณาการ ไปจนถึงการตั้งค่าต่าง ๆ สามารถทำได้อย่างง่ายดาย และเมื่อพิจารณาต้นทุนรวมทั้งหมดที่เกิดขึ้นแล้ว Cobot จาก TM Robot จะมีต้นทุนที่ต่ำที่สุดด้วย Ecosystem ที่ครบครันที่สุด” Mr. Adam Tseng ผู้อำนวยการฝ่ายขายภูมิภาคเอเชีย จาก TM Robot ได้นิยามมุมมองของ Smart Factory และแนวคิดสำหรับการผลิตแบบผสมผสานระบบอัตโนมัติกับแรงงานเข้าด้วยกัน ซึ่งแนวทางดังกล่าวนั้นกำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับนานาชาติ

จากมุมมองของ Mr. Adam ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์นั้นยังมีจุดแข็งที่ได้เปรียบหุ่นยนต์อีกหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ Sensing หรือสัมผัสการรับรู้ต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งหากสินค้าที่ผลิตนั้นเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องใช้หรือสัมผัสโดยตรง การทำงานร่วมกันระหว่างแรงงานกับหุ่นยนต์จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดโดยให้หุ่นยนต์นั้นทำงานที่มีความเสี่ยงหรือไม่เหมาะสมกับกายภาพของมนุษย์แทน ซึ่งประเทศไทยเองที่ SME จำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอัตโนมัติหรือเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการผลิตได้นั้น แนวคิดการผสมผสานแรงงานกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอื่น ๆ จะเป็นตัวเลือกที่เข้าถึงเกิดขึ้นได้จริง ทั้งยังมีความเหมาะสมกับการใช้งานมากกว่าระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบอีกด้วย ซึ่งเทคโนโลยีจาก TM Robot สามารถช่วยให้ความต้องการเหล่านี้เป็นจริงได้อย่างรวดเร็วและทรงประสิทธิภาพ

SOLOMON

เมื่อมีหุ่นยนต์หรือ Cobot เพื่อใช้งานแล้วนั้นเทคโนโลยีกล้องที่ต้องใช้งานคู่กันอย่าง Machine Vision ก็เป็นส่วนสำคัญที่สามารถช่วยให้กิจกรรมการผลิตเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่นมีประสิทธิภาพ ซึ่งการใช้ Machine VIsion นั้นสามารถลดการใช้เซนเซอร์และฟิกเจอร์ต่าง ๆ สำหรับระบบอัตโนมัติได้ เช่น การใช้งาน Pick&Place สำหรับแขนกล ทำให้การบูรณาการระบบนั้นง่ายดายยิ่งขึ้น SOLOMON ผู้พัฒนาเทคโนโลยี Machine Vision ร่วมกับการใช้ AI จากไต้หวันนั้นถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ต้องพิจารณาหากต้องการบูรณาการเทคโนโลยีกล้องในงานอุตสาหกรรม

โซลูชัน Just Pick จาก SOLOMON นั้นเรียกได้ว่าถูกออกแบบมาอย่างปราณีตเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายโดยไม่ต้องกังวลด้านความสามารถในการตรวจจับภาพ ด้วยจุดเด่นที่มาจาก AI ที่เป็นระบบ Pre-trained ทำให้ระบบสามารถทำความรู้จักกับวัตถุต่าง ๆ เพื่อทำการหยิบและวางได้แม้ไม่เคยเจอหรือมีวัตถุนั้น ๆ ในฐานข้อมูลมาก่อน ทำให้สะดวกต่อการใช้งานในคลังสินค้าหรือธุรกิจ E-Commerce ที่ปัจจุบันกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งยังง่ายต่อการติดตั้งและบูรณาการเข้ากับระบบได้อย่างหลากหลาย ซึ่งการใช้เทคโนโลยี Machine Vision เหล่านี้จะสามารถลดภาระการทำงานของแรงงานได้เป็นอย่างดี

“จากการที่เราตั้งต้นมาจากตัวแทนจำหน่าย Cobot ทำให้เราเชี่ยวชาญในการออกแบบระบบกล้องเพื่อการทำงานร่วมกันระหว่างแรงงานและหุ่นยนต์ ซึ่งงานด้านโลจิสติกส์จะเห็นได้ชัดเจนมากว่าในพื้นที่หนึ่ง ๆ นั้นแรงงานกับหุ่นยนต์ต้องทำงานใกล้ชิดในพื้นที่จำกัด ด้วยการผสานเทคโนโลยี 3D Point Cloud และ 2D Image เข้าด้วยกันเทคโนโลยีกล้องของเราจึงสามารถวัดระยะและสัดส่วนต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำรวมถึงการตรวจจับสีที่ช่วยในการแบ่งแยกส่วนต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยพื้นฐานของระบบนั้นเป็นการใช้ AI สำหรับ Software Optimization เพื่อทำการประมวลผลภาพคุณภาพสูงในเวลาอันรวดเร็วผ่าน PC ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าการใช้งาน AI นั้นต้องการการเชื่อมต่อ Cloud หรือเครือข่ายเพื่อใช้งาน แต่เทคโนโลยีของ SOLOMON นั้นเป็น Pre-trained AI ที่ใช้การประมวลผลแบบออฟไลน์จึงสามารถใช้งานที่ไหนก็ได้ขอแค่มี PC ที่มีการ์ดจอคุณภาพสูงก็เพียงพอ” Mr. Michael Lee ผู้จัดการด้านผลิตภัณฑ์จาก SOLOMON เล่าถึงหัวใจหลักของเทคโนโลยีการตรวจจับภาพที่ถูกพัฒนาขึ้นในบริษัทฯ 

การใช้งาน Software Optimization จาก SOLOMON นั้นถือว่าเป็นแนวคิดที่ต้องการลดภาระการทำงานของฮาร์ดแวร์ที่ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนขอ GPU ที่ต้องประมวลผลภาพภายใต้สภาพแวดล้อมของงานอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นฝุ่น ผง ความร้อน ละอองน้ำมัน งานเชื่อม หรืองานกัดขึ้นรูปใด ๆ ก็ตาม ทำให้การทำงานสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วโดยไม่เกิดคอขวดของการประมวลผล ความสุดยอดของเทคโนโลยีด้าน Machine Vision จาก SOLOMON ยังก้าวออกไปจากขอบเขตของงานอุตสาหกรรมสู่งานอนุรักษ์ศิลปะ-วัฒนธรรม เช่น การจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลของวัตถุโบราณด้วยเทคโนโลยีเดียวกันผ่านกล้อง 2 ตัวที่ดึงเอาจุดเด่นของ 3D Point Cloud และ 2D Image เข้าไว้ด้วยกันรายละเอียดที่ได้จึงมีความใกล้เคียงกับวัตถุจริงสูงมาก ทำให้เทคโนโลยีนี้ถูกใช้ในพิพิธภัณฑ์หรือเพื่องานเก็บข้อมูลวัตถุโบราณได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการทำ Digital Transformation หรือกำลังหาวิธีเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงโรงงาน Mr. Michael ได้แนะนำว่าก้าวแรกที่สำคัญนั้นต้องหา Sweet Point ให้เจอ ต้องดูให้ออกว่าคุณค่าหรือมูลค่าที่สำคัญของสายการผลิตอยู่ตรงไหน หรือปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขที่สำคัญที่สุดคืออะไร แล้วลองมาพิจารณาดูว่าผลลัพธ์ที่ต้องการนั้นเป็นอย่างไรเพื่อที่จะได้เชื่อมต่อไปยังโซลูชันที่เหมาะสมกับความต้องการได้ การลงทุนเหลานี้ควรจะดำเนินการเป็นขั้นตอนทีละขั้น ๆ เมื่อแก้ไขปัญหาหรือปรับปรุงได้จุดหนึ่งแล้วค่อยต่อยอดความสำเร็จไปยังจุดต่อ ๆ ไป หลายคนอาจติดภาพการลงทุนทีเดียวเป็นโรงงานอัตโนมัตเต็มรูปแบบซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ใช้เงินทุนเยอะและอาจไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการหากเทียบกับการทำความเข้าใจตัวเองและลงมือแก้ไขทีละจุด ยกตัวอย่างโรงงานที่ต้องการขัดโครงจักรยานซึ่งปรกติแล้วแรงงานใช้เวลา 7 นาที ในการทำงานแต่ละชิ้น แต่เมื่อเจ้าของพิจารณาแล้วว่าอยากลดระยะเวลาการทำงานของแรงงานลงเทคโนโลยี Machine Vision และหุ่นยนต์ที่นำเข้ามาสามารถลดเวลาการทำงานของแรงงานเหลือเพียง 1 นาที โดยเป็นการทำงานในส่วนที่หุ่นยนต์เข้าไม่ถึงหรือเข้าถึงได้ยาก ซึ่งสิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถจับต้องได้เพราะมีเป้าหมายความต้องการที่ชัดเจน และในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นการต่อยอดจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นก็ทำได้ไม่ยากเช่นกัน

AAEON

ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยี AI นั้นมีส่วนอย่างมากในการช่วยสนับสนุนการทำงานต่าง ๆ ตั้งแต่การเก็บข้อมูลไปจนถึงการประมวลผลที่ทำให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยี AI จาก AAEON เรียกได้ว่ามีความโดดเด่นด้วยความเชี่ยวชาญที่มีพื้นฐานมาจากฮาร์ดแวร์ที่สามารถปรับแต่งได้เพื่อให้ตรงกับความต้องการในการใช้งานถึง 100% เรียกว่าถ้ามีความต้องการที่ชัดเจนและมีซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบแล้วแต่ยังไม่คิดไม่ออกว่าจะหาฮาร์ดแวร์อะไรมารองรับ AAEON จะเป็นคำตอบให้ได้กับทุกความต้องการ

“นอกเหนือจากประสบการณ์มากกว่า 35 ปีในการออกแบบคอมพิวเตอร์และการผลิต AAEON ยังได้พัฒนาความเชี่ยวชาญด้าน AI อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Intel หรือ Google เพื่อออกแบบฮาร์ดแวร์ของเรา ด้วยความสามารถในการออกแบบชิปและฮาร์ดแวร์สำหรับ AI สำหรับลูกค้าที่ครบถ้วนตามความต้องการ 100% หรือเรียกได้ว่าคุณค่าของเรา คือ ความสามารถในการ Customize ได้ทุกความต้องการและสามารถผลิตได้แม้จำนวนที่ต้องการจะมีไม่มาก นอกจากนี้รายังสามารถสนับสนุนลูกค้าในการเลือกใช้ OS หรือออกแบบให้เหมาะสมกับความต้องการใช้งานอีกด้วย ดังนั้นฮาร์ดแวร์และบริการจาก AAEON จึงสามารถสนับสนุนทุกความต้องการใช้งาน AI ได้ด้วยฮาร์ดแวร์ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเติมเต็มให้กับโครงการที่มีการพัฒนาระบบหรือซอฟต์แวร์เอง หรือการช่วยอัพเกรดระบบการผลิตเดิมให้สามารถใช้งาน AI ได้ก็ตาม” Ms. April Lin ตัวแทนฝ่ายขายจาก AAEON เล่าถึงจุดเด่นของบริษัทฯ ที่สามารถตอบสนองต่อบูรณาการ AI จากซอฟต์แวร์สู่ฮาร์ดแวร์

ผลิตภัณฑ์จาก AAEON นั้นมีเทคโนโลยีให้เลือกใช้งานอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น PC ที่มีศักยภาพสูงที่สามารถติดตั้งระบบ AI เพื่อสนับสนุนการทำงานทั้งระบบได้ หรือจะเป็น Embedded Edge AI Computing System รุ่นพื้นฐานอย่าง BOXER-8221AI ที่รองรับการใช้งาน Machine Vision เบื้องต้นสำหรับงานที่ไม่ต้องการรายละเอียดสูง หรือ BOXER-6641 ที่สามารถสนับสนุน IIoT และ AIoT ได้ด้วย ซึ่งการเลือกใช้เทคโนโลยีแต่ละชนิดนั้นควรได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากเทคโนโลยี Edge Computing ที่อยู่ในตลาดนั้นมีอยู่อย่างหลากหลาย ในขณะที่ความต้องการที่จะบูรณาการเข้ากับ AI สร้างความซับซ้อนอันเป็นเงื่อนไขสำคัญเข้าไปอีกหนึ่งปัจจัย สิ่งสำคัญ คือ ผู้ใช้งานต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่าจะเอาเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ทำอะไร อย่างไร เช่น ในกรณีของบริษัทไต้หวันแห่งหนึ่งต้องการทำระบบ Face Recognition ในช่วง COVID-19 โดยมีการเขียนซอฟต์แวร์และระบุความต้องการอุปกรณ์สำหรับ AI ที่มีขนาดเล็กซึ่ง AAEON ก็สามารถตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้นได้อย่างครบถ้วน

ด้วยความสามารถในการ Customize ได้ 100% ฮาร์ดแวร์จาก AAEON สามารถสนับสนุน Digital Transformation ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เพราะ AI นั้นมีข้อได้เปรียบหลากหลายประการไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนแรงงาน ลดระยะเวลา หรือเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการเป็นต้น 

Ms. April มองเห็นโอกาสในการเติบโตที่เข้ามาแทนที่ในภาคส่วนของธุรกิจที่ถดถอยลง ด้วยรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ลักษณะโครงสร้างธุรกิจแบบใหม่ที่ต้องอิงกับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นเพื่อภายใต้เงื่อนไขและบริบทยุคใหม่ ซึ่งศักยภาพของ AAEON เองก็สามารถตอบรับกับความต้องการของเหล่า Startup ที่เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ SI หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการอัพเกรดระบบได้ครบถ้วนสมบูรณ์

หากผู้ประกอบการ SME ที่กำลังสงสัยว่าการเริ่มต้น Digital Transformation หรือการก้าวไปสู่โรงงานอัตโนมัตินั้นจะต้องเริ่มอย่างไร สิ่งแรกที่ต้องเกิดขึ้น คือ การมองให้เห็นกำแพงที่อยู่ในธุรกิจหรือสายการผลิตของตัวเองเสียก่อน การมองเห็นปัญหาหรือความสามารถในการระบุผลลัพธ์ที่ต้องการได้อย่างเป็นรูปธรรมจะเป็นการเปิดทางนำร่องสู่การบูรณาการโซลูชันที่เหมาะสมได้ เพราะธุรกิจและโรงงานแต่ละแห่งต่างก็มีจุดแข็งของตัวเองและก็มีปัญหาเฉพาะตัวเช่นกัน การแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีจึงไม่ไช่ยาผีบอกที่แก้ได้ทุกโรค แต่เป็นการแก้ปัญหาให้ถูกจุดด้วยยาหรือเทคโนโลยีที่ถูกต้องเหมาะสมกับความต้องการ ซึ่งเทคโนโลยีและโซลูชันจากไต้หวันเรียกได้ว่าเหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการความคุ้มค่ารวมถึงมาตรฐานที่ไว้วางใจได้

สำหรับผู้ที่สนใจในสินค้าจากและโซลูชันจากไต้หวันที่นำเอามาฝากกันในวันนี้นั้นต้องบอกว่าผู้ผลิตทุกรายล้วนมีตัวแทนจำหน่ายหรือพาร์ทเนอร์ในประเทศไทยแล้วทั้งสิ้น ซึ่งสามารถติดต่อผ่านทาง Taiwan External Trade Development Council (TAITRA) ได้ที่เว็บไซต์ https://en.taitra.org.tw/ หรือโครงการ TAIWAN EXCELLENCE ได้ที่ https://www.taiwanexcellence.org/th

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
โซลูชันระบบอัตโนมัติและอุตสาหกรรม 4.0 จากไต้หวันเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ในการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทย
Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire
Digitech2024