วิศวกรเป็นอาชีพที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับสายงานอุตสาหกรรมในทุกภาคส่วน วิศวกรมีเป็นหนึ่งในปัจจัยสำหรับการตัดสินใจลงทุนจากต่างชาติ เพราะวิศวกรนั้นมีความใกล้ชิดและดำเนินงานในเชิงลึกมากที่สุด การลาออกหรืออัตราการเปลี่ยนงานของวิศวกรจึงส่งผลทั้งด้านการลงทุนและการผลิตโดยตรง
งานวิจัย ‘ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการลาออกของวิศวกรในภาคอุตสาหกรรม‘ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ก่อให้เกิดการย้ายงานของวิศวกรในพื้นที่กรุงเทพซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการผลิตรวมถึงต้นทุนขององค์กรที่เพิ่มขึ้น
ข้อมูลในงานวิจัยนี้เป็นการเก็บข้อมูลจากวิศวกรในสายงานการผลิต 370 คน ในพื้นที่กรุงเทพ พบว่าความพึงพอใจของวิศวกรในเขตกรุงเทพอยู่ในระดับสูง เป็นผลจากความพอใจที่สามารถติดสินใจในการทำงานเองได้ วิศวกรส่วนใหญ่รู้สึกผูกพันธ์และรักองค์กร โดยวิศวกรส่วนใหญ่จากกลุ่มตัวอย่างไม่คิดจะทำงานในบริษัทไปจนเกษียณอายุงาน สอดคล้องกับกลุ่มตัวอย่างวิศวกรอายุงาน 21 ปีขึ้นไปซึ่งคิดเป็น 3.6% จากทั้งหมด ในขณะที่วิศวกรอายุงานไม่เกิน 5 ปี มีสูงถึง 55% และหากมีโอกาสที่ดีกว่าวิศวกรพร้อมที่จะเปลี่ยนงานเช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิศวกรที่อายุงานน้อย
จากรายงานการวิจัยพบว่า
- วิศวกรชายมีความตั้งใจในการลาออกมากกว่าวิศวกรหญิง โดยมีนัยสำคัญทางสถิติอยู่ที่ 0.05
- เมื่อวิศวกรอายุมากขึ้นความตั้งใจในการลาออกจะลดน้อยลง ซึ่งอิทธิพลด้านอายุมีค่านัยสำคัญอยู่ที่ 0.01
- วิศวกรสังกัดองค์กรสัญชาติญี่ปุ่นมีความตั้งใจในการลาออกน้อยกว่าองค์กรสัญชาติอื่น สัญชาติองค์กรมีอิทธิพลต่อความตั้งใจในการลาออกมีนัยสำคัญทางสถิติอยู่ที่ 0.01
- หากความพอใจและความผูกพันธ์ที่มีต่อองค์กรสูงความตั้งใจในการลาออกจะลดน้อยลง โดยค่าความพึงพอใจมีนัยสำคัญทางสถิติอยู่ที่ 0.01
- สถานภาพสมรสมีผลต่อการขาดงานและการลาออกโดยวิศวกรที่แต่งงานแล้วส่วนใหญ่จะไม่ออกจากงาน
- ระดับการศึกษาและสาขาการทำงานไม่มีผลต่อความตั้งใจในการลาออกจากงาน
การสร้างเสริมความสัมพันธ์และความภาคภูมิใจในองค์กรนั้นส่งผลต่อทางเลือกในการทำงานของวิศวกรอย่างมาก การมีสวัสดิการที่เหมาะสมสามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่วิศวกรได้ รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรยังส่งผลโดยตรงต่อความพึงพอใจในการทำงาน ยกตัวอย่างกรณีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นสามารถบริหารทรัพยากรให้ตอบสนองต่อความพึงพอใจของวิศวกรได้ เป็นผลมาจากความคล้ายคลึงทางด้านศาสนา การให้ความสำคัญกับมารยาท และพิธีกรรม
ที่มา:
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ