ภายใต้ความท้าทายของตลาดการผลิตที่เน้นสินค้ามูลค่าสูงมากขึ้น อุตสาหกรรมการผลิตไทยต้องรีบปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันและกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโลกยุคใหม่ MM Thailand จึงได้ชวน ดร.วุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ นักวิจัยอาวุโสศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) มาพูดคุยกันถึงแนวโน้มและโอกาสในการแข่งขันของประเทศไทย ก่อนที่จะกลายเป็นประเทศที่ผลิตแต่สินค้าตกยุคและไร้ศักยภาพในการแข่งขันอย่างสิ้นเชิง
- อุตสาหกรรมไทยที่มีส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมตกยุคหรือมีมูลค่าเพิ่มไม่มาก
- การแข่งขันยุคต่อไปอุตสาหกรรมมูลค่าสูงเป็นส่วนขับเคลื่อนที่สำคัญ
- ประเทศไทยมีความพยายามจัดตั้งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539
- TMEC เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านเซมิคอนดักเตอร์แห่งแรกและแห่งเดียวในไทยตอนนี้
- อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงนั้นจะใช้แรงงานน้อยลง แต่ต้องการทักษะที่สูงมากขึ้น
- เงื่อนไขสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่อยู่ที่องค์ความรู้และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง
- ซัพพลายเชนที่ดีจะช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการพัฒนาสินค้า การผลิต และลดเวลาได้อย่างมาก
ปัจจุบันสถานการณ์ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยนั้นอยู่ในสภาพที่มีความน่ากังวลไม่น้อย เนื่องจากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าไม่มากนัก และในอุตสากรรมที่เคยเป็น Champion เดิมก็กำลังจะกลายเป็นอุตสาหกรรมตกยุคที่ไร้ตลาดรองรับในไม่ช้า การปรับตัวสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าสูงจึงเป็นทางรอดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ปัจจุบันมีการส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ PCB และเซมิคอนดักเตอร์ที่เรียกได้ว่าแทบจะเข้าไปอยู่ในทุกส่วนของโลกสมัยใหม่แบบ 24/7 แต่ประเทศไทยจะสามารถแข่งขันได้อย่างไรในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น?
เมื่ออุตสาหกรรมไทยกลายเป็น ‘อุตสาหกรรมตกยุค’
ประเทศไทยนั้นดั้งเดิมมีรากฐานจากเกษตรกรรมซึ่งปัจจุบันได้มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตที่มีในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นการเพิ่มมูลค่าที่สูงมากนัก เนื่องจากขาดฐานเรื่องงานวิจัยหรือองค์ความรู้ที่จะต่อยอดในระดับสูงได้ ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่เลื่องชื่อลือชาว่าเป็น Detroit แห่งเอเชียก็อยู่ในขาลงจากการมาของยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งยานยนต์จีนที่มีราคาถูก สามารถทุบตลาดทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย โดยข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมชี้ให้เห็นว่าเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมาดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 1.91 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เคยเป็นพระเอกนั้นดัชนี MPI อยู่ที่ -18.44 ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment) -12.89 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Inventory) -13.83 ตามลำดับ
“สินค้าของเราสู้ในตลาดโลกไม่ได้ เพราะสินค้าเราล้าสมัย ไม่ได้ผลิตในสิ่งที่ตลาดโลกต้องการ”
คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (งานแถลงข่าวการจัดงาน Intelligent Asia Thailand 2025)
หากพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่าหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่เคยเป็น Champion นั้นต่างถดถอยหรือไม่ก็มีสัดส่วนที่น้อยลงแม้จะยังเป็นบวกอยู่ก็ตาม ยังไม่นับรวมถึงอุตสาหกรรมที่ในระดับสากลถือเป็นดาวดวงใหม่อย่างการผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ประเทศไทยกลับมี MPI อยู่ที่ -11.84 เรียกได้ว่า ของเก่าก็เริ่มไม่มีอนาคต ของใหม่ที่ควรจะดีก็กลับไม่เป็นดังคาดหวัง
เพื่อเอาชนะความท้าทายในโลกยุคใหม่นี้ ประเทศไทยจึงตั้งเป้าหมายสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ New S-Curve เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจร รวมถึงการปรับแต่ง S-Curve ให้มีศักยภาพทัดเทียมกับตลาดที่เปลี่ยนไปจากเดิม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมทั้งหมดนั้นจะถูกกำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงซึ่งสอดคล้องกับความต้องการที่เกิดขึ้นจริงในตลาดโลก
‘เซมิคอนดักเตอร์’ บ่อน้ำมันยุคใหม่ของภาคการผลิต
หนึ่งในอุตสาหกรรมที่กลายเป็นกระดูกสันหลังของโลกยุคใหม่ คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีเรื่องของ PCB เป็นแกนกลางสำคัญ และประเด็นของเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนขับเคลื่อนสำคัญสำหรับความต้องการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยมีความต้องการใช้งานเทคโนโลยีอัจฉริยะในยุคปัจจุบัน ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงหุ่นยนต์และ AI ต่าง ๆ โดยเซมิคอนดักเตอร์มีบทบาทสำคัญอย่างมากในโลกที่ต้องการข้อมูลดิจิทัลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นแบบอัตโนมัติ ในฐานะตัวประมวลผลที่เรียกได้ว่าแทบจะอยู่ในทุกอุปกรณ์ยุคใหม่ ตั้งแต่ดาวเทียมใหญ่ยักษ์ไปจนถึงหุ่นยนต์ทางการแพทย์ขนาดจิ๋ว หรือเซนเซอร์ยุคใหม่ที่ใช้ตรวจจับค่าที่ต้องการ
“เซมิคอนดักเตอร์ถ้าแปลตรงตัว คือ สารกึ่งตัวนำ แต่ในบทบาทของ TMEC นั้น คือ การใช้กระบวนการผลิตทางด้านเซมิคอนดักเตอร์สร้างอุปกรณ์ต่าง ๆ ทางไฟฟ้าขึ้นมา เช่น MEMS และเซ็นเซอร์เป็นต้น”
ดร.วุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ นักวิจัยอาวุโสศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC)
ข้อมูลจาก Straits Research พบว่า ตลาดของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2023 นั้นมีมูลค่า 198,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 349,490 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2032 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) อยู่ที่ 6.5% ตลอดระยะเวลาคาดการณ์ระหว่างปี 2024 – 2032 ในขณะที่ Semiconductor Industry Association (SIA) ได้ออกมาประกาศถึงยอดขายของเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกว่า มีมูลค่าสูงถึง 53,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม 2024 เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ที่ 20.6% หากพิจารณายอดขายตามภูมิภาคแบบปีต่อปีจะมีกลุ่มประเทศที่มียอดขายเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 43.9%, จีน 19.2%, เอเชียแปซิฟิกและอื่น ๆ 17.1% และญี่ปุ่น 2.0% ในขณะที่ยุโรปลดลง -9.0%
ทุกวันนี้หากมองไปทางซ้าย หันไปทางขวา หรือกำลังอ่านบทความนี้อยู่ก็ไม่อาจปฏิเสธบทบาทของเซมิคอนดักเตอร์ที่ทำให้เกิดโลกดิจิทัลนี้ได้เลย จะเห็นได้ว่าเซมิคอนดักเตอร์เป็นตลาดขนาดใหญ่และมีความสำคัญกับชีวิตและสังคมสมัยใหม่อย่างมาก การที่อุตสาหกรรมการผลิตไทยจะเข้ามามีส่วนแบ่งในอุตสาหกรรมนี้จึงถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างมากเนื่องจากประเทศไทยมีพื้นฐานการผลิตที่ดี และยังมีความคุ้นเคยในการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นพื้นฐานจนเคยเป็นแหล่งผลิต Hard Disk Drive (HDD) สำคัญแห่งหนึ่ง (ซึ่งปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นอีกเทคโนโลยีที่กำลังตกยุคแต่ไม่ทั้งหมด) แต่ความท้าทายสำคัญ คือ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์นั้นเป็นอุตสาหกรรมมูลค่ามหาศาลที่ต้องการต้นทุนสูงมากรวมถึงจำเป้นต้องมี เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องการเทคโนโลยีระดับ Hi-End อย่างแท้จริง ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ห่างไกลจากประเทศไทย แค่อุตสาหกรรม PCB ยังเข้าถึงได้ยากสำหรับใครหลายคน เซมิคอนดักเตอร์จึงเหมือนเป็นเรื่องฝันเฟื่อง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วประเทศไทยมีโรงงาน Wafer Fabrication ที่ทำงานได้จริง รับงานจากต่างประเทศมามากมายเป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม
เปิดประตูสู่ ‘เซมิคอนดักเตอร์’ อุตสาหกรรมสุดฮอตผ่านความเชี่ยวชาญของ TMEC
ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Microelectronics Center) หรือ TMEC นั้นเรียกได้ว่าเป็นโรงงาน Wafer Fabrication ที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายในการกระจายรายได้ผ่านความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง โดยปัจจุบัน TMEC มี NSTDA เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุน
“TMEC เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ทำหน้าที่วิจัยพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมทางด้านเซมิคอนดักเตอร์ โดยเน้นไปที่งานด้านการพัฒนาเซนเซอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่ต้องการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเอง ซึ่งโครงการนี้เริ่มต้นประมาณปี พ.ศ. 2539 โดย ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ในตอนแรกมีเอกชนอย่าง Alphatec Group สนับสนุนพื้นที่ให้ 12 ไร่ ซึ่งในยุคนั้นเป็นความพยายามรอบแรกที่จะให้เกิดอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นในประเทศไทย แต่น่าเสียดายที่ต้องเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้งเสียก่อน ทำให้ภาคเอกชนต้องหยุดการดำเนินการ แต่ด้วยความที่ TMEC เป็นหน่วยงานของรัฐจึงทำให้ยังสามารถเติบโตต่อไปได้” ดร.วุฒินันท์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ TMEC ที่ทำให้มองเห็นได้เลยว่าวิสัยทัศน์ซึ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยนั้นทอดยาวออกไปไกลอย่างมาก
Wafer Fabrication แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย
ปัจจุบัน TMEC นั้นเป็นโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่เกิดขึ้นได้จริง แม้ว่าจะมีอายุอานามมากกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม โดย TMEC มีหน้าที่สำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์สำหรับเซ็นเซอร์เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจผ่านรูปแบบ B2B รวมถึงสร้าง Ecosystem ให้เกิดการใช้งานของ End User เกิดซัพพลายเชนในรูปแบบของ B2C ขึ้น และยังมีหน้าที่ในการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมที่หาได้ยากยิ่งนี้ขึ้นมา โดยปัจจุบัน TMEC มีผู้เชี่ยวชาญอยู่ 47 คน และกว่าครึ่งนั้นเป็นคนที่ TMEC พัฒนาขึ้นมาด้วยตัวเองร่วมกับมหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยอื่น ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต ซึ่งการทำงานวิจัยสำหรับระดับปริญญาโทหรือเอกที่ TMEC ให้การสนับสนุนนั้นจะเป็นการทำงานร่วมกันบนประเด็นองค์ความรู้ที่ลูกค้าต้องการ ทำให้การศึกษาที่เกิดขึ้นนั้นได้ประโยชน์กับทุกฝ่ายเพราะสามารถนำไปใช้งานได้จริง
ความสามารถในการผลิตของ TMEC นั้นรองรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับ 0.8 ไมครอนได้ ครอบคลุมการผลิต MEMS, Microfluidics, Chemical Sensor, Power Devices และ Silicon Detector ซึ่งเป็นการต่อยอดจากความสามารถของกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั้งสิ้น โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักที่ TMEC มีความเชี่ยวชาญสูง คือ เซนเซอร์ ซึ่งมีงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในฐานะหัวหอกของนวัตกรรม ในขณะเดียวกันก็รับจ้างผลิต Wafer โดยเฉพาะกลุ่มเซนเซอร์ซึ่งคู่ค้าจากทั่วโลกที่ให้ความสนใจใช้บริการมาเป็นเวลายาวนาน
กระบวนการผลิตของ TMEC ในฐานะ Wafer Fabrication จะทำการซื้อวัตถุดิบ Wafer เพื่อนำมาเข้ากระบวนการผลิตดังภาพประกอบด้านบน โดย TMEC สามารถดำเนินการผลิตได้ในกระบวนการที่ 2 – 11 โดยจะเป็นการสร้างลายบนเซมิคอนดักเตอร์ทีละชั้น (Layer) จากนั้นจึงวนกระบวนการกลับมาจนกว่าจะมีการผลิตครบตามการออกแบบ โดยส่วนของ Packaging ที่ปกป้องตัวเซมิคอนดักเตอร์ต่อแรงกระแทกและการปนเปื้อนต่าง ๆ นั้นจะมีพาร์ทเนอร์คอยสนับสนุนในขั้นตอนนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ก็ไม่แตกต่างจากการทำงานของ Wafer Fabrication รายใหญ่อย่าง TSMC และรายอื่น ๆ ซึ่งอาจจะมีเรื่องของ Packaging เข้ามาเพิ่มเติม
‘บูรณาการความรู้เข้ากับภาคธุรกิจ’ เงื่อนไขสำคัญในการเข้าสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง
สำหรับประเทศไทยที่กำลังมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการแข่งขันในอุตสากรรมที่มีมูลค่าสูงนั้น ดร.วุฒินันท์มองว่า เรื่องของทักษะ องค์ความรู้ และประสบการณ์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในการก้าวเข้ามาสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่อย่างเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เรียกได้ว่าอาจจะมีมูลค่าสูงสุดอุตสาหกรรมหนึ่ง ณ เวลานี้
“ผลพวงจากปัญหาของ Geopolitics, Trade War ต่อเนื่องมาจนถึง Chip War ทำให้ผู้ผลิตและซัพพลายเชนของเซมิคอนดักเตอร์ต้องกระจายตัวออกจากจีน กลายเป็นโอกาสของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมาเลเซียกับประเทศไทย แต่เราจะคว้าโอกาสและยืนระยะได้ จำเป็นต้องมีความรู้ ซึ่งความรู้ในที่นี้ต้องเกิดขึ้นใน 3 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นตลาด ส่วนที่เป็นการลงทุน และส่วนที่เป็นเทคนิค โดยผู้วางนโยบายต้องมองเห็นและเข้าใจเงื่อนไขเหล่านี้ ส่วนคนที่อยู่ในแต่ละส่วนเองก็ต้องเข้าใจในส่วนอื่นด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ว่ารู้แต่เทคนิค ไม่รู้เรื่องธุรกิจ ไม่รู้เรื่องตลาด ไม่รู้อะไรเลย ทำไปก็เจ๊งได้ หรือคนให้ทรัพยากรก็ต้องเข้าใจว่าอุตสาหกรรมมูลค่าสูงแบบเซมิคอนดักเตอร์นั้นทำแล้วได้อะไร เกิดกับใคร ประเทศได้อะไร เพื่อจะได้รู้ว่าเงินที่บอกว่าต้องใช้เยอะมากนั้น ทำไมถึงต้องใช้เยอะ ผลกระทบที่เกิดคืออะไร หรือเปรียบเทียบกับ PCB แล้วทำไมถึงแตกต่างกันมหาศาล” ดร.วุฒินันท์กล่าวถึงแนวทางการปรับตัวต่อโอกาสใหม่ที่กำลังเข้ามาผ่านประสบการณ์ตรงของ TMEC ที่เป็นฝ่ายผลิต ต้องเข้าใจตลาด และต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่ต้องการลงทุนหรือเจ้าของเงิน
ในมุมของแรงงานเอง หากพิจารณาแค่อุตสาหกรรม PCB การ Upskill/Reskill ทำได้ง่าย หลักสูตรที่ยาวที่สุดในปัจจุบันนั้นไม่เกิน 6 เดือน น้อยสุดหลักอาทิตย์ การย้ายเข้ามาจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นไปได้ง่าย แต่ต้องอย่าลืมว่าจำนวนคนและระดับทักษะที่ต้องการจะสวนทางกัน ถ้าต้องการคนจำนวนมาก ทักษะที่ต้องการอาจไม่ต้องฝึกนาน แต่ถ้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงมาก ๆ จำนวนคนที่ใช้จะน้อยมาก เช่น Wafer Fabrication ระดับกลางหรือเล็กที่ใช้คนหลักร้อย โรงงานใหญ่ประมาณ 1,000 คน แต่ถ้าเทียบกับโรงงาน PCB แล้วจะแตกต่างกันอย่างมาก ในระดับการทำงานเอง วิศวกรก็ต้องจบจากมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท เรียนหลักสูตร 3-4 ปี ซึ่งประเทศไทยเองก็มีหลักสูตรพวก IC Design เกิดขึ้นแล้ว และมีแผนการสร้าง Training Center ต่าง ๆ เพิ่มเติมขึ้นอีก โดยสาขาการศึกษาที่เกี่ยวข้องจะมีทั้งวิศวกรรมไฟฟ้าที่เน้นไปทางด้าน Packaging และการทดสอบคุณภาพ, ฟิสิกส์ ด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์, เคมี เน้นไปกระบวนการในการผลิต PCB และวิศวกรรมอุตสาหการดูแลการผลิต
‘Knowledge Gap’ ความท้าทายหลักของผู้ประกอบการที่ต้องการมุ่งหน้าสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่หรืออัปเกรดสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง ดร. วุฒินันท์ มองว่า ความเชี่ยวชาญในการเป็นผู้ผลิต OEM มาก่อนถือว่าเป็นการตั้งต้นที่ดี แต่หากจะเริ่มต้นจากอะไรสักอย่าง ต้องเริ่มต้นจาก ‘ความรู้’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจในอุตสาหกรรมที่กำลังจะแทรกตัวเข้าไป ความรู้เหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น การทำอะไรที่ใกล้เคียงกับความเชี่ยวชาญ หรือ Knowledge Gap ระหว่างอุตสาหกรรมเดิมกับอุตสาหกรรมใหม่ที่น้อยจะมีโอกาสในการเติบโตมากที่สุด
“การกระโดดไปทำอะไรที่ไม่เชี่ยวชาญ Go Big เลย เราจะไม่เรียกว่าเสี่ยง แต่มันคือโอกาสตายสูง ล้มละลายได้เลยนะครับ ไม่ใช่แค่ขาดทุน ถ้า Knowledge Gap มันเยอะมาก”
ดร.วุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ นักวิจัยอาวุโสศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC)
หากพิจารณาจากประสบการณ์ของ TMEC ที่ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับผู้ประกอบการจากทั่วโลก หนึ่งในข้อสังเกตที่ ดร. วุฒินันท์มองเห็นจากความสำเร็จที่เกิดขึ้น คือ บริษัทเหล่านี้จะมี Core Value หลักที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเอง เป็นประสบการณ์ที่สั่งสมมาและต้องการต่อยอดออกมาเป็นสินค้าของตัวเอง ทำให้ลอกเลียนแบบได้ยาก หรือใครที่สนใจเห็นโอกาสแล้วอยากจะทำตามก็ไม่สามารถทำได้ โดยมาก CEO หรือ CTO ของบริษัทเหล่านี้จะมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อยู่แล้วเป็นพื้นฐาน ในมุมหนึ่งจะมองว่าเป็น Startup ก็ได้ แต่ CEO หรือ CTO บริษัทกลุ่มนี้มักจะมีอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งสั่งสมประสบการณ์จากการเป็นพนักงานและก้าวเข้าสู่ระดับบริหารที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง จุดแข็งของลูกค้ากลุ่มนี้ คือ ในการทำงานกับลูกค้ากลุ่มนี้รู้อยู่แล้วว่าจะขายใคร หาเงินจากใคร หากซัพพลายเชนขาดต้องไปหาจากตรงไหนมาเติม ดังนั้นผู้ประกอบการที่จะก้าวเข้ามาในอุตสาหกรรมเหล่านี้จะต้องศึกษาซัพพลายเชนให้ดีว่าจะสามารถ Plugin เข้าไปตรงไหนได้บ้าง
ยกตัวอย่าง กรณีอุตสาหกรรมเดิม การ Upskill และมองหา Upstream ที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ถือเป็นสิ่งสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท PCBA ซึ่งถนัดเรื่องการประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) สามารถเพิ่มคนที่มีทักษะในการออกแบบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็น System Integrator เป็นต้น หลังจากนั้นอาจจะขยับไปในงานที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เรียกว่าใช้ Know How ที่มีอยู่เดิมไต่ขึ้นไปในการผลิตหรือกิจกรรมต้นน้ำมากขึ้น แม้ว่าจะยากในการเริ่มต้น แต่ยิ่งไต่ขึ้นไปได้มากเท่าไร คู่แข่งก็ยิ่งน้อยลงและมูลค่ารวมก็เพิ่มขึ้นตามเป็นอย่างมาก
เซมิคอนดักเตอร์ไทย และ Startup จะแข่งขันได้ต้องมี ‘ซัพพลายเชน’
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ ดร. วุฒินันท์มองว่า จะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอุตสาหกรรมมูลค่าสูงอื่น ๆ คือ เรื่องของ ‘ซัพพลายเชน’ หากมีซัพพลายเชนที่พร้อม จะทำอะไรใหม่ก็สามารถทำได้ทันที รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง เอารถม้าไปแข่งกับรถไฟฟ้าก็แข่งกันไม่ได้ การมีซัพพลายเชนพร้อมก็ไม่ต่างจากการที่มีเครื่องมือทุกอย่างในมือ ที่เหลือคือจินตนาการให้ได้ว่าอยากให้เกิดอะไรขึ้น
“ยกตัวอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา เวลาเขาจะทำอะไรใหม่เขาจะ Groom Startup ของเขาระยะเวลาหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นฝั่ง Bay Area ทาง California ไปจนถึง Massachusetts และ Boston พอทีมงานพร้อมก็จะส่งคนเหล่านี้ไปฝังตัวที่ Shenzhen ซึ่งมีซัพพลายเชนพร้อมหมด เวลาพัฒนาอะไรจึงมีทีมสนับสนุนทางด้าน Hardware เป็นทีมที่ช่วยหาซัพพลายเชนที่มีครบหมดในจีน จะดี จะร้ายอย่างไรก็มีครบ ทำต้นแบบได้ ซึ่งสำคัญมากสำหรับ Startup ในการไปต่อ การหาเงินเพิ่ม เพื่อทำให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่มีอยู่นั้นดีขึ้น ลองคิดดูว่าถ้าเราสั่ง PCB จากจีนใช้เวลา 2 – 3 วันได้ แต่จีนเขาสั่งเช้าได้บ่ายหรือได้เช้าเลย แค่เรื่องเดียวเวลาก็นำไป 2 วันแล้ว ทีนี้ก็ลองบวกต่อไปอีกว่ามีกี่เรื่องในการผลิต นอกจากเวลาที่นำไปเป็นเดือนแล้ว เรื่องต้นทุนก็ถูกกว่าอีกด้วย ทำให้เห็นว่าการที่จีนมีซัพพลายเชนพร้อมนั้นได้เปรียบคนอื่นมาก” ดร. วุฒินันท์เน้นย้ำถึงความสำคัญของการที่จะต้องมีซัพพลายเชนเกิดขึ้นหากต้องการแข่งขันในอุตสาหกรรมใหม่อย่างเซมิคอนดักเตอร์
Semiconductor Supply Chain
- ผู้ผลิต Ingot และแผ่น Wafer
- IC Design
- Wafer Fabrication
- Chip Packaging
- Assembly [PCB+Component+Semiconductor]
แต่ซัพพลายเชนก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เอง จำเป็นต้องมีการดึงดูดการลงทุนผ่านการสนับสนุนของภาครัฐ หากประเทศไทยอยากเป็นอย่างมาเลเซียหรือสิงคโปร์ที่สามารถก้าวผ่านวิกฤตต่าง ๆ มาได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวกฎหมายที่ต้องสอดคล้องกับการแข่งขันจริง ทำให้เกิดประสิทธิภาพกับธุรกิจ ไม่ใช่เครื่องถ่วงศักยภาพ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง การดำเนินการช้า แค่เรื่องนี้เราก็แข่งขันได้ยากแล้ว และสิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน คือ การลงทุนอุตสาหกรรมมูลค่าสูงอย่างเซมิคอนดักเตอร์นั้นภาครัฐมีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง
‘ความร่วมมือกับภาครัฐ’ ประตูสู่การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก
อย่างที่เราพอจะทราบกันมาแล้วว่าความพยายามในการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว ความทะเยอทะยานนี้จะปล่อยให้เป็นเรื่องของเอกชนฝ่ายเดียวไม่ได้ ดร. วุฒินันท์ยกตัวอย่างของ TSMC หรือบริษัทที่ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อื่น ๆ ว่า ทุกประเทศที่พยายามตั้งโรงงานเหล่านี้ล้วนมีรัฐเป็นผู้เล่นสำคัญทั้งสิ้น ด้วยการสนับสนุนหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Incentive ทางด้านการเงินสนับสนุน เพราะมูลค่าการลงทุนนั้นสูงมาก หากเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม PCB ที่มียอดลงทุนในประเทศสูงสุดที่ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7,500 ล้านบาท แต่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์นั้นเริ่มต้นที่หลัก 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาทไปจนถึงหลัก 1 ล้านล้านบาท เรียกว่าขนาดโรงงาน PCB ที่ใหญ่ที่สุดยังมีมูลค่าการลงทุนต่างจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่เล็กที่สุดมากถึง 5 เท่า
ในกรณีของ TMEC เองเฉพาะในส่วนของ Wafer Fabrication จำเป็นต้องผลิตในห้องปลอดเชื้อ ปลอดฝุ่น ซึ่ง TMEC เองก็มีทั้ง Class 100 และ Class 10,000 เครื่องจักรหลายเครื่องที่มีใช้อยู่หรือได้มานั้นก็ไม่ได้เป็นมือ 1 ตั้งแต่แรก มีทั้งมือ 2 และ มือ 3 จากที่อื่น ทำให้ราคาไม่ได้สูงมาก หลักพันล้านต้น ๆ ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นเครื่องที่เก่ามากแล้ว แต่ยังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะวิศวกรใน TMEC ที่คอยดูแลเครื่องจักร ดูแลระบบ เรียกว่าเครื่องจักรบางตัวอาจจะอายุมากกว่าบางคนเสียอีก
จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรม Semiconductor นั้นไม่สามารถมีภาคเอกชนรายใดรายหนึ่งลงทุนเองได้ แม้แต่ในกรณีของ TSMC เองมีรายได้หลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เวลาลงทุนในประเทศหรือสถานที่ใหม่ ๆ ก็ยังต้องขอ Incentive จากรัฐบาลไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่นต่างก็มี CHIPS and Science Act (พระราชบัญญัติด้านชิปส์และวิทยาศาสตร์) เพื่อให้เกิดการลงทุนขึ้นได้ ช่วยเรื่องงานลงทุนตั้งแต่ 30 – 50% บางประเทศเคลมที่ 70% ก็มี แต่ต้องดูรายละเอียดการสนับสนุนว่าเป็นด้านภาษีหรือรับเงินลงทุน ไปจนถึงการสนับสนุนพิเศษ เช่น ที่ดิน หรือเช่าฟรี แต่ต้องดูให้ดีเพราะอาจทำให้หลงทางจากแนวนโยบายที่ขายฝันได้ด้วย ยกตัวอย่าง กรณีล่าสุดอย่าง PTT-HANA ที่ BOI อนุมัติงบสนับสนุนบางส่วนเพื่อตั้งโรงงานผลิตชิปนั้น เรียกได้ว่าเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากหลายฝ่ายทั้งรัฐและเอกชน โดยภาครัฐเองก็มีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จำเป็นด้วยเช่นกัน
หากอุตฯ ไทยฝันไกล ต้องพัฒนาซัพพลายเชนไปพร้อมกับ R&D ที่เข้มแข็ง
ภาพของการมีซัพพลายเชนของเซมิคอนดักเตอร์ที่เข้มแข็งนั้นไม่ต่างกับภาพของยุคปัจจุบันที่ประเทศไทยนั้นมีซัพพลายเชนด้านยานยนต์สันดาปอย่างที่เป็นอยู่ แต่ก็จะเห็นได้ว่าแม้จะมีความเข้มแข็งเพียงใดประเทศไทยก็ไม่อาจไปถึงจุดสูงสุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ เพราะหยุดอยู่แค่ OEM ไม่สามารถไปต่อยัง ODM และ OBM ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดงานวิจัยและพัฒนาที่เข้มแข็ง และไม่ว่าอุตสาหกรรมไหนก็เป็นเช่นเดียวกัน
“งานวิจัยนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้ต้นทุนจำนวนมาก การทำวิจัยเพื่อสิ่งที่มีอยู่แล้วในตลาดจึงไม่คุ้มค่าเพราะถูกแข่งขันได้ง่าย แต่ถ้าทำเพื่อสร้างสิ่งใหม่ สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือเพื่อแก้ Pain Point ที่มีจะมีมูลค่าเพิ่มทันที ซึ่งตรงนี้เองเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างมากที่ต้องหข้อมูลการตลาด, การทำ Literature Review ไม่ใช่แค่ว่าดูว่าใครทำอะไรมาแล้วไม่ทำซ้ำ แต่ต้องเป็นการสร้างสิ่งใหม่ หรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิม ต้องบอกว่ามองเรื่องนี้ผ่านมุมมองของเศรษฐศาสตร์จะเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น เทคโนโลยีการแพทย์ใหม่นั้นจะสามารถรักษาคนเพิ่มขึ้นได้อีกเท่าไร มูลค่าของเทคโนโลยี ธุรกิจการผลิตที่เกิดขึ้น การจ้างงานที่เกิดขึ้น รวมไปถึงความสามารถในการยืนระยะและการแข่งขัน ตรงนี้จะทำให้เกิดความแตกต่างจากของที่ใครก็ผลิตได้ เราไม่ควรแข่งขันกันที่ราคา เพราะไม่ยั่งยืน หรือทำการผลิตให้เขาเพียงอย่างเดียว ถ้าเขาถอนการผลิตเมื่อไรก็จบ แล้วถ้าไปผลิตอะไรตามใคร ผลิตสิ่งที่ใครก็ทำได้จะแข่งราคากับเขาอย่างไรไหว” มุมมองของ ดร. วุฒินันท์ ที่มีต่องานวิจัยและพัฒนานั้นเรียบง่ายและจับต้องได้มากกว่าที่เคยได้รู้มา เมื่อพิจารณาถึงงานวิจัยในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ก็จะเห็นตัวเลขและความคุ้มค่าต่าง ๆ ที่สามารถวัดและประเมินผลได้
ในวันนี้แม้ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไทยจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่จริง ๆ แล้วเรามีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ที่รับงานในระดับสากลเกิดขึ้นจริง พร้อมทั้งยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีและแอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องภายใต้ TMEC ซึ่งได้มีการวางรากฐานเอาไว้อย่างยาวนาน และวันนี้เราก็ได้เห็นช่วงเวลาของการเดินหน้าสู่อนาคตใหม่ในภาคการผลิตอุตสาหกรรมมูลค่าสูงแล้ว หากใครที่กำลังมองหาช่องทางธุรกิจใหม่ ๆ ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้และมีความต้องการในตลาดไม่น้อย ยิ่งสามารถขึ้นไปในการผลิตต้นน้ำได้มากเท่าไรโอกาสของธุรกิจก็ยิ่งมีมากเท่านั้น!
สามารถติดต่อ TMEC ได้ที่:
Website: www.tmec.or.th
Email: [email protected]
Tel: 092 687 1112 หรือ 038 857100