UNSW Canberra Carbon Fibre recycle

UNSW Canberra ค้นพบวิธีรีไซเคิลคาร์บอนไฟเบอร์ให้ดีกว่าเดิม

Date Post
07.11.2023
Post Views

นักวิจัยด้านวิศวกรรมจาก UNSW Canberra ได้พัฒนาวิธีการรีไซเคิลวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ที่สามารถประหยัดพลังงานและได้รับวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้มากขึ้นเป็นที่สำเร็จ

โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ AuManufacturing ได้ระบุว่าการทดลองในครั้งนี้เป็นการร่วมมือกับ Ford Motor และ ARC Training Center for Automated Manufacturing of Advanced Composites เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อโครงสร้างเส้นใยคาร์บอนที่เกิดขึ้นในระหว่างการรีไซเคิล

ที่ผ่านมานั้นวัสดุอย่างคอมโพสิตคาร์บอนไฟเบอร์ถือเป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่อุปสรรคในปัจจุบันก็คือการที่เส้นใยคาร์บอนนั้นเป็นวัสดุที่รีไซเคิลได้ยากเพราะประสิทธิภาพของวัสดุที่อาจจะลดลงถึง 80 – 90% เมื่อผ่านการรีไซเคิล

นั่นเพราะในกระบวนการรีไซเคิลแบบทั่วไปนั้นจะใช้การฉีกทำลายคอมโพสิต ก่อนที่จะใช้ความร้อนเพื่อแยกเอาส่วนของพลาสติกออกมาจากวัสดุ ซึ่งจะทำให้ได้ออกมาเป็นเส้นใยคาร์บอนที่มีลักษณะเหมือนเส้นผมหรือเส้นสำลี

แต่วิธีการใหม่ที่ทางทีมได้พัฒนาขึ้นนี้ไม่ได้เลือกใช้การทำลายวัสดุก่อนรีไซเคิล และมีการควบคุมวิธีการให้ความร้อนในเตาเผาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้จึงกลายเป็นเส้นใยคาร์บอนรีไซเคิลที่ไม่เกิดความเสียหาย การนำไปใช้ใหม่จึงมีความแข็งแกร่งมากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

โดยทางทีมได้สรุปว่าประสิทธิภาพของเส้นใยคาร์บอนที่ผ่านวิธีการรีไซเคิลแบบใหม่นี้จะมีประสิทธิภาพที่ลดลงแค่ประมาณ 30% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นการพัฒนาจากวิธีการในอดีตขึ้นมาถึง 50% เลยทีเดียว แต่ทั้งนี้เส้นใยที่ได้มาก็ยังไม่สามารถทำตามความคาดหวังของทีมที่ต้องการจะนำเส้นใยคาร์บอนจากวิธีการแบบใหม่นี้มาใช้ในการผลิตรถได้ แต่ก็สามารถช่วยให้เหล่านักวิจัยเข้าใกล้เป้าหมายได้มากขึ้นกว่าเดิม

ความสำเร็จในครั้งนี้จะช่วยเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมการผลิตสามารถเพิ่มตัวเลือกในการจัดหาวัสดุที่มีประสิทธิภาพและมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นตามเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน เป็นอีกหนึ่งโซลูชันดี ๆ ที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถร่วมกันสร้างสายการผลิตที่ยั่งยืนขึ้นมาได้

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Jirapat R.
A Content Creator with multiple interests and a fitness enthusiastic.