นักเศรษฐศาสตร์เสนอแนวคิดการยกระดับเทคโนโลยี พัฒนาแรงงาน เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน ชี้ความสำคัญสำหรับรัฐบาลใหม่ในการวางยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อถ่วงดุลอำนาจเศรษฐกิจจีน-สหรัฐ แก้เกมความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในการแข่งขันระดับสากล
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ไทย มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเกษตร ภาคอุตสาหกรรมการผลิตใช้แรงงานทักษะสูง ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และมีอัตราการเกิดที่ต่ำมาก ยอมรับว่าระบบเศรษฐกิจไทย ต้องอาศัยแรงงานอพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้น รัฐบาลใหม่ควรมียุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับโครงสร้างประชากรและแรงงานอพยพ ตลอดจนการตั้งถิ่นฐานของคนที่ไม่มีสัญชาติไทยให้เหมาะสม
รัฐบาลใหม่ ไม่ควรปล่อยให้มีการตั้งถิ่นฐานเป็นการถาวร โดยไม่มีการจัดระเบียบ ต้องพิจารณามิติทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และความมั่นคงให้ชัดเจน เพราะการเปิดเสรีให้ชาวต่างชาติและนักลงทุนต่างชาติในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดและคนไทยส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ จึงต้องทำอย่างรอบคอบรัดกุม สิ่งสำคัญคือ การใช้เทคโนโลยี มาพัฒนาแรงงานไทยให้มีศักยภาพมากขึ้น
ยอมรับว่า ประเทศไทย มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ที่ไม่ได้ทำให้สวัสดิการโดยรวมของสังคมหรือของประชาชนดีขึ้นมากนักในทางเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า ‘Immiserizing Growth’ เป็นภาวะขยายตัวทางการค้า แต่ทำให้อัตราการค้าแย่ลง และอัตราการค้าที่แย่ลง กลับมีผลในทางลบ มากกว่า ผลบวกจากการขยายตัวการค้า จึงนำไปสู่ความมั่งคั่ง สวัสดิการโดยรวมลดลง ประเทศยังต้องซื้อสินค้านำเข้าในราคาสูง ขณะที่ต้องลดราคาสินค้าส่งออกลงอย่างมากเพื่อให้ขายสินค้าได้มากขึ้น ไทยจึงต้องเป็นระบบเศรษฐกิจ แบบพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก
ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ในปี 2566 เมื่อได้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งแล้ว คาดว่าไทยจะสามารถเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี ในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆได้อย่างรอบคอบ อย่างมีกลยุทธและรัดกุมยิ่งขึ้น การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกาภิวัตน์ ที่มีการแข่งขันเชิงอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้นของจีนและสหรัฐอเมริกา รัฐบาลใหม่ควรวางตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของไทย โดยเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมมากขึ้น
ที่มา:
tna.mcot.net