Store Master - Kardex
What is Kaizen in manufacturing

Kaizen คืออะไร? บริหารโรงงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพด้วยแนวคิดสไตล์ญี่ปุ่น

Date Post
04.06.2024
Post Views

ทุกวันนี้เชื่อว่าผู้ประกอบการหลาย ๆ ท่านต่างก็สนใจและอยากที่จะมองหาแนวคิดในการทำงานที่มีประสิทธิภาพเข้ามาช่วยให้โรงงานของตัวเองสามารถลดต้นทุนและปรับปรุงคุณภาพในการผลิตให้เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันได้อย่างมั่นคง

แต่การจะนำเอาแนวคิดใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในโรงงานนั้น บางครั้งโรงงานของคุณก็อาจจะเจอกับความท้าทายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงจากพนักงาน การขาดต้นทุนและทรัพยากรที่เพียงพอ หรือการขาดความรู้และความเข้าใจในแนวคิดเหล่านั้น

วันนี้ Modern Manufacturing จึงอยากพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับวิธีการบริหารจัดการโรงงานให้มีประสิทธิผลที่ทำได้ง่ายและไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงด้วยแนวคิดของการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสไตล์ญี่ปุ่นอย่าง ‘Kaizen’ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่าทุกสิ่งสามารถปรับปรุงได้ และไม่มีสิ่งใดจะคงสภาพที่เป็นอยู่ไปได้ตลอดเวลา

Kaizen แนวคิดของการเปลี่ยนแปลง

คำว่า Kaizen นั้นมาจากคำว่า ‘Kai’ (改) ซึ่งแปลว่า การเปลี่ยนแปลงหรือการแก้ไข และคำว่า ‘Zen’ (善) ซึ่งแปลว่า ดีขึ้นหรือดีงาม รวมกันออกมาเป็นคำว่า ‘Kaizen’ ที่แปลว่า “การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น” ซึ่งแนวคิดแบบ Kaizen นั้นก็เป็นแนวคิดที่ถือกำเนิดขึ้นมากว่า 1,300 ปีแล้วในประเทศญี่ปุ่น และเป็นที่นิยมอย่างมากในยุคสมัยเอโดะ (ปีค.ศ. 1603 – 1867)

การทำงานแบบ Kaizen ในโรงงานนั้นมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ ‘การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง’ โดยเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนทีละเล็กทีละน้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดของเสียในกระบวนการผลิตลงผ่านการทำงานร่วมกันของพนักงานทุกคนในองค์กร เปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้น้อยลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เกิดความสะดวกสบายและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานให้สูงขึ้นตามไปด้วย

ข้อดีที่ควรรู้ของแนวคิด Kaizen

สำหรับข้อดีของการนำแนวคิด Kaizen มาใช้ในโรงงานเมื่อเทียบกับแนวทางการปรับปรุงคุณภาพอื่น ๆ นั้นก็คือการไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก แต่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่และเห็นผลได้จากการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในกระบวนการทำงาน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ผ่านการเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนตั้งแต่นายช่างและวิศวกรใน Shop floor ไปจนถึงผู้จัดการและผู้บริหารได้มีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็นและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของทุกคนในองค์กร

การนำแนวคิดแบบ Kaizen มาปรับใช้ให้เกิดผลสำเร็จได้นั้นจะช่วยให้โรงงานสามารถได้รับผลประโยชน์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็น

  1. เพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการทำงาน (Productivity Improvement) เมื่อพนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงกระบวนการทำงาน จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกระบวนการทำงานจะถูกปรับปรุงให้เหมาะสมและรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้การผลิตมีความคล่องตัวมากขึ้น
  2. ลดความสูญเสียในกระบวนการผลิต (Waste Reduction) การใช้แนวคิด Kaizen ช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการลดเวลาที่ไม่จำเป็น การลดการใช้วัตถุดิบที่เกินความจำเป็น หรือการลดการใช้งานเครื่องจักรอย่างไม่เหมาะสม
  3. ยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ (Quality Management) เมื่อกระบวนการผลิตถูกปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง คุณภาพของผลิตภัณฑ์จะดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งส่งผลให้ลูกค้าพึงพอใจและความสามารถในการแข่งขันขององค์กรสูงขึ้น
  4. ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร (Operational Efficiency) Kaizen ช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิตผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน วัตถุดิบ หรือเวลา ทำให้สามารถผลิตได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
  5. เพิ่มความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน การปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่องช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้สถานที่ทำงานปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการทำงาน
  6. เพิ่มความพึงพอใจของพนักงานและลูกค้า (Employee Engagement & Customer Satisfaction) การที่พนักงานได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงการทำงาน ทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีคุณค่าและเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จขององค์กร ซึ่งส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและความพึงพอใจของลูกค้าเพิ่มขึ้น

Kaizen จะช่วยบริหารโรงงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

แนวคิด Kaizen ไม่ได้เป็นเพียงแค่การปรับปรุงกระบวนการในสายการผลิตเท่านั้น แต่ยังสามารถปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของโรงงานในภาพรวมได้ โดยแนวทาง Kaizen มีความโดดเด่นในการช่วยให้โรงงานสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในหลายด้าน ดังนี้

  1. เพิ่มความโปร่งใสและการสื่อสารในองค์กร
    แนวคิด Kaizen ส่งเสริมการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม ซึ่งช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้จัดการและพนักงานในสายการผลิต การสื่อสารที่ชัดเจนและโปร่งใสช่วยให้ผู้บริหารทราบถึงปัญหาและข้อเสนอแนะจากพนักงานในพื้นที่การผลิตได้รวดเร็ว ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที
  2. การตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูล (Data-Driven Decision Making)
    Kaizen มุ่งเน้นให้การบริหารจัดการกระบวนการต่างๆ ในโรงงานทำงานบนฐานข้อมูลจริง เช่น ข้อมูลการใช้ทรัพยากร เวลาในการผลิต และคุณภาพของสินค้า ซึ่งช่วยให้ผู้จัดการสามารถตัดสินใจปรับปรุงกระบวนการได้อย่างแม่นยำ ลดความผิดพลาด และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร
  3. ลดเวลาในการแก้ไขปัญหาและเพิ่มความรวดเร็วในการตัดสินใจ
    ด้วยหลักการ Kaizen ปัญหาจะถูกตรวจพบและแก้ไขในทันที ซึ่งช่วยให้การทำงานมีความลื่นไหลมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อปัญหาถูกระบุและแก้ไขโดยตรงในระดับปฏิบัติการ ทำให้ผู้จัดการสามารถปรับปรุงการทำงานได้ทันทีโดยไม่ต้องรอการแก้ไขปัญหาขั้นสูง
  4. เพิ่มความคล่องตัวและความสามารถในการปรับตัว
    Kaizen ช่วยให้โรงงานสามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางตลาดและเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว โดยการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องนี้ทำให้กระบวนการทำงานมีความยืดหยุ่น ลดความซ้ำซ้อนของขั้นตอนการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากรในระยะยาว
  5. พัฒนาทักษะและความสามารถของพนักงาน
    ใน Kaizen การมีส่วนร่วมของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ พนักงานจะได้รับการฝึกฝนทักษะที่จำเป็น และมีส่วนร่วมในกระบวนการปรับปรุงต่างๆ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้พนักงานมีทักษะที่แข็งแกร่งขึ้น แต่ยังส่งเสริมให้พวกเขารู้สึกถึงคุณค่าของงานที่ทำ ซึ่งส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเพิ่มความพึงพอใจในหน้าที่
  6. การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร
    Kaizen ช่วยให้การใช้ทรัพยากรในโรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการลดของเสียในกระบวนการ ลดการใช้วัสดุที่เกินความจำเป็น และลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่า ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการผลิตในขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในทุกกระบวนการ
  7. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยั่งยืน
    Kaizen ช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการพัฒนาและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง วัฒนธรรมนี้ส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับเห็นคุณค่าของการทำงานร่วมกันและการพัฒนาเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมีผลให้โรงงานสามารถปรับตัวและพัฒนาไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิมอย่างยั่งยืน

ด้วยแนวทางเหล่านี้ Kaizen ทำให้การบริหารจัดการโรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองได้ดีกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของโรงงานในระยะยาว

‘เลิก ลด เปลี่ยน’ เริ่มต้นทำ Kaizen ง่าย ๆ ด้วยหลักการเหล่านี้

สำหรับโรงงานที่อยากเริ่มใช้แนวคิด Kaizen นั้น หลักการสำคัญที่ควรนำไปใช้ก็ได้แก่เรื่องของการ เลิก ลด เปลี่ยน (Stop, Reduce, Change) ปัจจัยต่าง ๆ ที่กำลังทำให้โรงงานและสายการผลิตของคุณต้องเสียประสิทธิภาพในการทำงานไป

  • การ เลิก ในที่นี้หมายถึงการเลิกหรือการตัดขั้นตอนการทำงานแบบเดิม ๆ ที่ไม่มีความจำเป็นออกเพื่อลดขั้นตอนการทำงานที่สิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างเวลา กำลังคน และวัตถุดิบ เช่นการลดขั้นตอนในการผลิตจาก 5 ลงเหลือ 3 ขั้นตอน แต่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ดีขึ้นแทนส่วนที่ลดไป
  • การ ลด หมายถึงการลดความซ้ำซ้อนหรือความยุ่งยากในการทำงานที่ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ และลดกิจกรรมที่ใช้ทรัพยากรมากเกินไปออกจากการทำงาน อย่างการลดเวลาในการประกอบชิ้นงานด้วยการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้กลายเป็นระบบอัตโนมัติแทนการใช้แรงงานมนุษย์
  • การ เปลี่ยน หมายถึงการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่นการเปลี่ยนการจัดเก็บวัตถุดิบจากการใช้กล่องพลาสติกมาเป็นชั้นวางที่มีการจัดเรียงเป็นระบบ เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาและหยิบใช้งานนั่นเอง

นอกจากหลักการเบื้องต้นที่ว่ามาแล้ว การทำ Kaizen ยังเกิดขึ้นได้จากการใช้กลยุทธ์ 3MU (Muda/Mura/Muri) ที่มุ่งเน้นไปที่การการลดต้นทุนและกำจัดความสูญเปล่าเข้ามาทำให้โรงงานของคุณสามารถเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ก่อนจะค่อย ๆ ทำการปรับเปลี่ยนเข้าสู่แนวคิด Kaizen ซึ่งนอกจากนี้แล้วการนำเอาหลักการอื่น ๆ อย่าง 5S และ 4M เข้ามาเสริม ก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้โรงงานสามารถนำเอาแนวคิด Kaizen มาใช้ให้เกิดผลได้สำเร็จจริง

การนำ Lean Manufacturing และ 5S Methodology มาผสมผสานกับ Kaizen

เพื่อให้การปรับปรุงภายในโรงงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวคิด Lean Manufacturing และ 5S Methodology มักถูกนำมาผสมผสานกับ Kaizen Lean Manufacturing มุ่งเน้นไปที่การลดความสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร โดยการลดขั้นตอนที่ไม่สร้างมูลค่าในกระบวนการผลิต ขณะที่ 5S Methodology มุ่งเน้นการจัดระเบียบสถานที่ทำงานให้มีความเรียบร้อย ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพการผสมผสาน Kaizen Methodology กับ Lean Manufacturing และ 5S ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับโรงงาน โดยช่วยให้โรงงานสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้รวดเร็วขึ้นและยืดหยุ่นมากขึ้น สิ่งนี้ช่วยให้การปรับปรุงกระบวนการทำงานเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

การทำงานแบบ Kaizen ในโรงงานจะช่วยพัฒนาทั้งบุคลากรและวิธีการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและช่วยให้โรงงานสามารถสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้สำเร็จ โรงงานที่นำเอาแนวคิด Kaizen มาใช้ได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอนั้นจะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มคุณค่าให้กับทั้งองค์กรและตัวพนักงานได้เป็นอย่างมาก รู้อย่างนี้แล้วก็อย่าลืมลองนำเอาแนวคิดดี ๆ แบบนี้ไปลองปรับใช้ในโรงงานของตัวเองกันดูนะครับ

ที่มา : 4industry, Creform

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Jirapat R.
A Content Creator with multiple interests and a fitness enthusiastic.