iscar
Intelligent Asia Thailand 2025
Preventive-maintenance

Preventive maintenance คืออะไร ส่งผลต่อเครื่องจักรอย่างไร

Date Post
13.02.2025
Post Views

Preventive Maintenance คืออะไร

ลองนึกภาพว่าคุณมีจักรยานที่ใช้งานทุกวัน ถ้าไม่คอยเช็คลมยาง เติมน้ำมันโซ่ หรือดูแลเบรกให้ดี วันหนึ่งจักรยานอาจจะพังกลางทาง จนทำให้เกิดความขัดข้องในการใช้งาน หรืออาจจะล้มจนได้รับบาดเจ็บ Preventive Maintenance PM หรือ การบำรุงรักษาเชิงป้องกันก็เป็นแนวคิดเดียวกันกับที่ได้ยกตัวอย่างไปข้างต้น เพราะการบำรุงรักษาด้วยวิธีนี้คือ กระบวนการดูแลและตรวจสอบเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอก่อนที่มันจะเกิดการสึกหรอจนเกิดปัญหาในการใช้งาน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดโอกาสที่เครื่องจักรจะเสียหายแบบไม่ทันตั้งตัว จนอาจส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานในโรงงานหรืออุตสาหกรรมได้ การวางแผน PM จะกำหนดตารางการดูแลเครื่องจักรล่วงหน้า โดยมุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบและบำรุงรักษาชิ้นส่วนต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ซึ่งมีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้

  • การตรวจสอบชิ้นส่วนสำคัญ

ชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องจักร เช่น มอเตอร์ สายพาน แบริ่ง หรือระบบไฟฟ้า จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบเป็นระยะเพื่อตรวจจับความผิดปกติก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ เช่น การสึกหรอ รอยร้าว หรือการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์

  • การทำความสะอาด

ฝุ่นละออง สิ่งสกปรก และคราบน้ำมันที่สะสมอยู่บนชิ้นส่วนเครื่องจักรอาจเป็นสาเหตุของความเสียหายได้ หากไม่ได้รับการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม การกำจัดสิ่งปนเปื้อนเหล่านี้ช่วยให้เครื่องจักรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดความร้อนสะสม

  • การเปลี่ยนชิ้นส่วนที่สึกหรอ

เมื่อชิ้นส่วนบางอย่างเริ่มเสื่อมสภาพ เช่น สายพานหมดอายุการใช้งาน หรือลูกปืนเริ่มมีเสียงผิดปกติ การเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ก่อนที่เครื่องจักรจะเสียหายจะช่วยลดโอกาสเกิดการหยุดชะงักของกระบวนการผลิต

  • การหล่อลื่นเพื่อลดแรงเสียดทาน

การหล่อลื่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดการสึกหรอของชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนที่ เช่น แบริ่ง หรือเฟือง ระบบหล่อลื่นที่เหมาะสมช่วยให้เครื่องจักรทำงานได้ราบรื่น ลดความร้อนสะสม และยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์

ข้อดีและข้อเสียของ Preventive Maintenance

วิธีการ PM เครื่องจักร หรือดูแลเครื่องจักรล่วงหน้าฟังดูเป็นไอเดียที่ดีใช่ไหม? แต่แน่นอนว่าวิธีนี้ถึงจะมีข้อดีแต่ก็มีข้อเสีย ที่เราต้องพิจารณาก่อนนำมาใช้จริงเช่นกัน

1.ข้อดีของ Preventive Maintenance 

  • ลดโอกาสที่เครื่องจักรจะเสียแบบกะทันหัน – ลองจินตนาการว่าคุณอยู่ในโรงงานผลิตอาหาร หากเครื่องจักรที่ใช้บรรจุขวดหยุดทำงานไปเฉย ๆ โดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า จะเกิดอะไรขึ้น? แน่นอนว่ากระบวนการผลิตทั้งหมดต้องหยุดลง เสียทั้งเวลาและเงิน การวางแผน PM จึงช่วยให้ปัญหาแบบนี้ไม่เกิดขึ้น เพราะการตรวจสอบและดูแลเครื่องจักรเป็นประจำ จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่มันจะรุนแรงจนต้องหยุดการผลิต
  • ยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักร – เครื่องจักรที่ได้รับการดูแลดี ย่อมอยู่กับเราได้นานกว่าเครื่องจักรที่ไม่ได้รับการดูแล ตัวอย่างง่าย ๆ คือ โทรศัพท์มือถือของเราเอง ถ้าไม่เคยอัปเดตระบบ ไม่เคยลบไฟล์ขยะ หรือเปลี่ยนแบตเตอรี่เลย มันก็คงเสื่อมสภาพเร็วมาก ๆ เครื่องจักรในโรงงานก็เช่นกัน การทำ PM ช่วยให้สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพและลดการสึกหรอ ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนเครื่องใหม่บ่อย ๆ
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว – แม้ว่าการทำ Preventive Maintenance จะมีค่าใช้จ่าย แต่ถ้าปล่อยให้เครื่องพังโดยไม่ได้ดูแล ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนเครื่องใหม่อาจจะแพงกว่าหลายเท่า อีกทั้งยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการหยุดสายการผลิตที่ไม่คาดคิดอีกด้วย
  • เพิ่มความปลอดภัยในที่ทำงาน – เครื่องจักรที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ อาจเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน เช่น ลัดวงจร หรือปล่อยสารเคมีรั่วไหล ทำให้เป็นอันตรายต่อพนักงาน การวางแผน PM จึงช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้

2.ข้อเสียของ Preventive Maintenance

  • ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นสูง – การเริ่มต้นใช้ระบบ PM ในองค์กรต้องลงทุนหลายอย่าง เช่น อุปกรณ์ตรวจสอบ ระบบซอฟต์แวร์ และการฝึกอบรมบุคลากร ซึ่งอาจเป็นภาระสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่มีงบประมาณจำกัด
  • ต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ – การทำ PM ไม่ใช่ว่าจะตรวจเช็กเครื่องจักรแบบมั่ว ๆ ได้ ต้องมีตารางการบำรุงรักษาที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายในสายการผลิต
  • อาจมีการบำรุงรักษาที่เกินจำเป็น – บางครั้งอาจมีการเปลี่ยนชิ้นส่วนหรือบำรุงรักษาในขณะที่ยังไม่จำเป็น ทำให้เสียค่าใช้จ่ายและทรัพยากรโดยไม่จำเป็น ซึ่งในบางอุตสาหกรรมอาจเลือกใช้ Predictive Maintenance แทน (จะมีการอธิบายในหัวข้อถัดไป)

กระบวนการบำรุงรักษาแบบอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

นอกจาก Preventive Maintenance แล้ว ยังมีวิธีบำรุงรักษาเครื่องจักรอีกหลายแบบที่สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจ ดังนี้

Corrective Maintenance (CM) – การซ่อมเมื่อเครื่องเสีย

นึกภาพว่าไฟฉายในบ้านคุณอยู่ดี ๆ ก็เปิดไม่ติด คุณจะซ่อมมันตอนที่มันยังใช้งานได้ดี หรือรอให้มันพังก่อน? แน่นอนว่าต้องรอให้พังก่อนแล้วจึงซ่อม การทำ Corrective Maintenance ก็เช่นกัน เป็นการเลือกซ่อมเมื่อเครื่องจักรเสียแล้วเท่านั้น วิธีนี้เหมาะกับอุปกรณ์ที่ไม่ได้มีผลกระทบมากนักเมื่อเสีย เช่น ไฟในโรงงานดับไป 1 ดวง อาจจะไม่กระทบกับสายการผลิตมากนัก สามารถเปลี่ยนหลอดไฟหรือซ่อมแซมได้อย่างรวดเร็ว ข้อดีของการทำ CM คือ ไม่ต้องลงทุนล่วงหน้า แต่ข้อเสียคือ ถ้าเครื่องจักรที่เสียเป็นตัวหลักของสายการผลิต อาจทำให้โรงงานต้องหยุดงานนาน

Predictive Maintenance (PdM) – การคาดการณ์ก่อนเครื่องเสีย

วิธีนี้จะมีความล้ำสมัยขึ้นมาหน่อย โดยการทำ Predictive Maintenance จะเป็นการใช้เซนเซอร์ และ AI ในการตรวจจับข้อมูลของเครื่องจักรแบบเรียลไทม์ เพื่อให้รู้ว่าเมื่อไหร่ที่เครื่องอาจจะมีปัญหา เช่น การตรวจจับการสั่นสะเทือนของมอเตอร์, การเช็กอุณหภูมิที่สูงผิดปกติ, การวิเคราะห์เสียงของเครื่องจักรที่เปลี่ยนไป โดยข้อดีของการทำ PdM คือ ลดการบำรุงรักษาที่ไม่จำเป็น และป้องกันปัญหาล่วงหน้าได้แม่นยำ แต่ข้อเสียคือ ต้องลงทุนในเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

Proactive Maintenance – การบำรุงรักษาเชิงรุก

วิธีนี้เป็นการผสมผสานข้อดีของ การบำรุงรักษาเชิงป้องกันและการบำรุงรักษาตามสภาพเข้าด้วยกัน โดยไม่เพียงแค่กำหนดตารางซ่อมบำรุงตามระยะเวลาเท่านั้น แต่ยังเน้นไปที่การวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง แล้วแก้ไขตั้งแต่ต้นทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก เช่น ถ้าเครื่องจักรบางตัวมีปัญหาบ่อย แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนอะไหล่ตามกำหนด ก็อาจเป็นไปได้ว่าการออกแบบตั้งแต่แรกไม่เหมาะสม หรือมีปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่ส่งผลต่ออายุการใช้งานของเครื่องจักร การซ่อมบำรุงเชิงรุกจะเข้ามาช่วยให้เราเข้าใจปัญหาเหล่านี้ และแก้ไขให้ตรงจุด

สรุปความสำคัญของการบำรุงรักษาเครื่องจักร

วิธีการบำรุงรักษาแบบ Preventive Maintenance (PM) คือ แนวทางที่ทุกอุตสาหกรรมควรให้ความสำคัญ เพราะเป็นการดูแลเครื่องจักรล่วงหน้าโดยที่เราไม่จำเป็นไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาก่อนแล้วค่อยซ่อม การมีแผน PM ที่ดีช่วยลดโอกาสที่เครื่องจักรจะเสียหายกะทันหัน ส่งผลให้การผลิตดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และช่วยให้ธุรกิจสามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะต้องมีการลงทุนกับการวางระบบการทำงานในช่วงแรกและต้องการการวางแผนที่ดี แต่ในระยะยาววิธีนี้ช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานไปได้อย่างไร้อุปสรรค โดยนอกจากการ PM เครื่องจักรแล้ว องค์กรยังสามารถเลือกใช้ Corrective Maintenance, Predictive Maintenance หรือ Proactive Maintenance ได้ตามความเหมาะสม การผสมผสานกลยุทธ์ต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะช่วยให้การบำรุงรักษาเครื่องจักรมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างมั่นคงในระยะยาวอย่างแน่นอน

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
Automation Expo