Kosmo

รู้จัก XR เทคโนโลยีเสมือนจริงกับความเป็นไปได้ใหม่!

Date Post
10.03.2021
Post Views

เทคโนโลยีเสมือนจริงหรือ Reality เทคโนโลยีเป็นเทคโนโลยีที่มีการแตกย่อยออกมาอย่างหลากหลาย ทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดใช้งานกับกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือความบันเทิง ซึ่งเทคโนโลยี XR หรือ Extended Reality นั้นเป็นเทคโนโลยีที่รวมเอาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีเสมือนจริงอื่น ๆ เอาไว้

เทคโนโลยีเสมือนจริง (Reality Technology) นั้นเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถสร้างวัตถุหรือสภาพแวดล้อมแบบดิจิทัลขึ้นมาเพื่อเป้าประสงค์บางอย่างตามแต่การออกแบบ หนึ่งในเทคโนโลยีเสมือนจริงที่ผู้คนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คือ Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) ซึ่งปัจจุบันมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย

VR นั้นเป็นเทคโนโลยีเสมือนจริงที่สร้างโลกดิจิทัล 100% ทั้งสภาพแวดล้อมและวัตถุต่าง ๆ ผู้ใช้งานสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับโลกเสมือนได้ผ่านอุปกรณ์สวมใส่ เช่น Oculus Rift หรือ HTC Vive ในขณะที่ AR เป็นการเสริมความเป็นจริงโดยมักเป็นการสร้างวัตถุ (Object) ขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมจริงผ่านเครื่องมือ เช่น สมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์กล้องที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี Mixed Reality หรือ MR ที่มีลักษณะเป็นลูกผสม Hybrid Reality ด้วยการผสมโลกจริงเข้ากับโลกเสมือนซึ่งสามารถปฏิสัมพันธ์ด้วยกันได้แบบ Real-Time และสุดท้ายคือเทคโนโลยี XR ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีเสมือนจริงที่มีอายุน้อยที่สุดในบรรดาเทคโนโลยีเสมือนจริงในปัจจุบัน

XR แตกต่างจากเทคโนเสมือนจริงอื่น ๆ อย่างไร?

Extended Reality หรือ XR นั้นเป็นเทคโนโลยีเสมือนจริงที่ผสมผสานหลากหลายมิติเข้าด้วยกันไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมในโลกจริง สภาพแวดล้อมดิจิทัล รวมถึงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีสวมใส่ ถ้าหากจะทำความเข้าใจอย่างง่ายนั้นอาจหมายถึงการรวมเอาเทคโนโลยี VR+MR+AR = XR ก็คงไม่เกินจริงไปนัก ซึ่งจากการให้นิยามของบางสำนักนั้นให้ความหมายของ XR ว่า X นั้นอาจแทนได้ด้วยตัวอักษรใด ๆ ก็ได้

ปัจจุบันเทคโนโลยีกลุ่ม Reality นั้นนิยมใช้ในการฝึกฝนการทำงานสำหรับภาคธุรกิจและการศึกษา เนื่องจากสามารถลดต้นทุนและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในการฝึกฝน โดยเฉพาะการฝึกทักษะกับอุปกรณ์ที่มีราคาสูงหรือมีอันตรายในการลงมือจริง เช่น งานซ่อมบำรุงแท่นขุดเจาะน้ำมันหรือฝึกฝนสำหรับงานเชื่อมเป็นต้น

จุดเด่นของ XR นอกเหนือจากการผนวกรวมกันของเทคโนโลยีเสมือนจริงต่าง ๆ แล้ว ในส่วนของอุปกรณ์ควบคุมนั้นยังสามารถเลือกใช้ได้ทั้งคำสั่งท่าทาง (Gesture) หรือดำเนินการผ่านอุปกรณ์ควบคุม (Controller) ได้อีกด้วย แม้ว่าเทคโนโลยีเสมือนจริงอื่น ๆ นั้นจะมีการปรับใช้กันในการทำงานและชีวิตประจำวันแล้วแต่สำหรับ XR นั้นการเข้าถึงอาจยังมีกำแพงที่สูงด้วยต้นทุนด้านเทคโนโลยีที่มีราคาแพงไม่ว่าจะเป็นฮษร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ก็ตามที

จากบทความ ‘A Review of Extended Reality (XR) Technologies for Manufacturing Training’ ที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2020 ได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการใช้งาน XR ในกิจกรรมของงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการฝึกทักษะแรงงาน ไม่เพียงแต่ในส่วนของการฝึกอบรมงานซ่อมบำรุงและการฝึกประกอบชิ้นส่วนเท่านั้น แต่ยังเหมาะกับงานที่ต้องฝึกฝนกระบวนการการรับรู้ (Cognition) และยังใช้ในการตรวจสอบวิเคราะห์การฝึกฝนที่มีอยู่เดิมว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่อย่างไรได้อีกด้วย

ในอีกแง่มุมหนึ่งการใช้ XR กับหุ่นยนต์ก็มีงานวิจัยออกมาอีกไม่น้อยเช่นกัน โดยใช้เพื่อฝึกฝนหุ่นยนต์ให้ทำงานตามขั้นตอนต่างๆ ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกับมนุษย์ก็สามารถทำได้ ซึ่งนอกเหนือจากงานอุตสาหกรรมแล้ว การใช้งานทางการแพทย์ ทางการทหารและกิจกรรมอื่น ๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน

หากต้องการเข้าถึงบทความต้นฉบับสำหรับการใช้ XR ในการฝึกอบรมของอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงได้ ที่นี่

อ้างอิง:
https://www.qualcomm.com/research/extended-reality
https://www.viget.com/articles/xr-vr-ar-mr-whats-the-difference/
https://medium.com/@northof41/what-really-is-the-difference-between-ar-mr-vr-xr-35bed1da1a4e
https://unity3d.com/what-is-xr-glossary

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire
Intelligent Asia Thailand 2025