กกร.ปรับลด GDP ปีนี้ ติดลบ 5-8 %

กกร.ปรับลด GDP ปีนี้ ติดลบ 5-8 %

Date Post
01.07.2020
Post Views

กกร.ปรับลด GDP ปีนี้ ลงมาเป็น-5.0% ถึง -8.0% และปรับลดเป้าส่งออกมาเป็น -7.0%ถึง -10.0% ชี้ ครึ่งปีหลังยังมี แนวโน้มเศรษฐกิจยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง

กกร.ปรับลด GDP ปีนี้ ติดลบ 5-8 %

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือกกร.ว่า ในเดือนพ.ค.และมิ.ย. แม้ภาครัฐทยอยคลายล็อกให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาเปิดดำเนินการ แต่เครื่องชี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะหดตัว จากกำลังซื้อที่อ่อนแอของครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่งผลต่อบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะเดียวกัน การส่งออกและการท่องเที่ยวยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและสถานการณ์โควิดในต่างประเทศที่ยังไม่ยุติ ทิศทางดังกล่าว คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 / 63 หดตัวลงลึกสู่อัตราเลขสองหลัก

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง แนวโน้มเศรษฐกิจยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากการระบาดของไวรัสโควิดในบางประเทศที่ยังรุนแรง ซึ่งจะทำให้การเปิดพรมแดนระหว่างประเทศของไทยคงเกิดขึ้นอย่างจำกัด ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ แรงฉุดจากเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และประเทศอื่นๆ ตลอดจนเงินบาทที่แข็งค่า อาจยังกดดันการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหมวดสินค้าไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ  

ทั้งนี้มาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด ควบคู่กับแรงขับเคลื่อนจากกลไกภาครัฐผ่านการอนุมัติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จะเข้ามาช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ทยอยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด อย่างไรก็ตาม การกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจคงต้องใช้เวลา และจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ที่ประชุม กกร. จึงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงข้างหน้า ขณะที่ล่าสุดทั้ง IMF ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลงมาที่ -7.7% และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับจีดีพี -8.1% ทั้งนี้ จากทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ยังมีประเด็นท้าทายอยู่มากดังกล่าว ในการประชุมรอบนี้ กกร. จึงได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ลงมาเป็น-5.0% ถึง -8.0% (จากเดิม-3.0%ถึง -5.0% )  ขณะที่ปรับลดกรอบประมาณการการส่งออกมาเป็น -7.0%ถึง -10.0% (จากเดิม -5.0% ถึง -10.0% ) และปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมาที่ -1.0% ถึง 1.5% (จากเดิม 0% ถึง -1.5% )  

ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. มีความเป็นห่วงเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าในอัตราที่เร็วกว่าสกุลเงินภูมิภาคในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา และยังมีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกในระยะข้างหน้า จากเงินดอลลาร์ฯที่อยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อ่อนแอกว่าคาดและการดำเนินนโยบายอัดฉีด QE ของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ กกร.ได้ร่วมหารือรับมอบนโยบาย จากรองนายกสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน SME อย่างทั่วถึง ทั้งกองทุน 50,000 ล้านบาท โดย สสว. เป็นผู้จัดตั้งกองทุน  การเพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในกลุ่ม SME ซึ่งทั้งกลุ่มจะเตรียมนำเสนอ ครม. ในวันอังคารที่ 7 ก.ค. หากผ่านความเห็นชอบจาก ครม. จะสามารถดำเนินการภายในเดือนส.ค.นี้ ทั้งนี้ กกร. ขอขอบคุณรัฐบาลที่เพิ่มมาตรการให้ความช่วยเหลือ SME ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น    

ทั้งนี้ กกร. กำหนดจัดงานเสวนา “ความตกลง CPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และประสบการณ์จากประเทศภาคี” วันที่ 2 ก.ค. ในหัวข้อ “กระบวนการ ขั้นตอน และระยะเวลาสำหรับการเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ของประเทศไทย และบทบาทและทิศทางของประเทศไทยในเวทีการค้าพหุภาคี” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบข้อมูล ประสบการณ์ และแนวทางที่เป็นประโยชน์ รวมถึงมาตรการรองรับผลกระทบจากผู้แทนประเทศภาคี CPTPP ตลอดจน กระบวนการเจรจา ขั้นตอน และแนวทางการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน  

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์