กฟผ.-มูลนิธิโครงการหลวง ต่อยอดความร่วมมือ เดินหน้าปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม พลิกฟื้นผืนป่าผ่านการสร้างป่าเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างเศรษฐกิจและส่งเสริมให้ชุมชนบนพื้นที่สูงอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ลงนามความร่วมมือโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม กับ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ อาคารปฏิบัติการ 1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่
Energy Efficiency Technologies
การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง และ กฟผ. ที่มุ่งเน้นการพัฒนามิติด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการร่วมสร้างป่าเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาสู่ต้นแบบพื้นที่เกษตรและป่าไม้ยั่งยืนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดยดำเนินการผลิตกล้าไม้พันธุ์ดี ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การขยายพันธุ์ไม้พื้นเมือง พันธุ์พืชเศรษฐกิจ และอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการปลูกป่าในพื้นที่โครงการหลวง เป็นการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เพิ่มศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการมีส่วนร่วมบริหารจัดการป่าของชุมชนอย่างยั่งยืน กรอบระยะเวลาความร่วมมือระหว่าง ปี พ.ศ. 2565 – พ.ศ. 2570 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโครงการหลวง ส่งเสริมให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน นำมาซึ่งความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กฟผ. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนงานของโครงการหลวง เพื่อสนองตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในด้านการจัดการพลังงานและใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเริ่มดำเนินการในพื้นที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเขตต้นน้ำที่สำคัญ ในปี พ.ศ. 2525 ได้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง เพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติของน้ำตกสิริภูมิ ไปใช้ประโยชน์ในงานพัฒนาส่งเสริมอาชีพเกษตรกร ในบริเวณใกล้เคียง
รวมทั้งผันน้ำไปใช้ในบ่อเลี้ยงปลาเทร้าต์ ปลาสเตอร์เจียน ในหน่วยวิจัยประมงที่สูงดอยอินทนนท์ นำระบบสมาร์ทไมโครกริด (Smart MicroGrid) ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าชุมชนแบบอัจฉริยะที่ผสมผสานระหว่างไฟฟ้าจากพลังน้ำ แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงานมาใช้ในพื้นที่ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ารองรับกรณีไฟฟ้าหลักขัดข้อง เพื่อเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของมูลนิธิโครงการหลวง นอกจากนี้ ยังมีโครงการ DARK SKY เปลี่ยนหลอดไฟในแปลงดอกเบญจมาศเป็นหลอด LED ทำให้ช่วยลดค่าไฟ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และไม่ทำให้ฟ้าสว่างในเวลากลางคืน เหมาะแก่การดูดาว ซึ่งโครงการนี้จะได้ขยายไปยังพื้นที่แห่งอื่นๆ ของมูลนิธิโครงการหลวงต่อไป