กระทรวงอุตสาหกรรม จัดงาน“มัดทอใจ มรกดกผ้าไทยร่วมสมัย พร้อมเปิดคอลเลคชั่นใหม่ “ความกลมกลืนที่เรียบง่าย -Minimal Harmony” เน้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอ สร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่าร้อยละ 50 ตั้งเป้าสร้างโอกาสทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ
นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน“มัดทอใจ มรดกผ้าไทยร่วมสมัย : Minimal Harmony of Thai Silk” โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยการออกแบบเชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสู่อีสานแฟชั่น ระยะที่ 2 จัดโดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) กล่าวว่า การจัดงานสรุปผลการดำเนินโครงการและการแสดงนิทรรศการผ้าไหมไทยในครั้งนี้เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้ดำเนินการมาในปีงบประมาณ 2565 ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ไทยรูปแบบใหม่ โดยสร้างลวดลายที่ไม่มีการซ้ำในผืนผ้า (non-repeat) แบบ Minimal Style จากการออกแบบด้วยความคิดเชิงสร้างสรรค์ บนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทย โดยใช้ต้นทุนท้องถิ่นผสมผสานกับเทคนิคการผลิตแบบใหม่ โดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มในตลาดระดับบนและกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต ตลอดจนสามารถผลักดันให้เกิดการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้จริง และสร้างมูลค่าทางการตลาดได้สำเร็จ
“กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้ดำเนินโครงการในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา สุรินทร์ และสกลนคร โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 30 กลุ่ม เกิดผลผลิตของโครงการในการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการผ้าพื้นเมือง 103 คน และการพัฒนาผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายใหม่ 18 ผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ มัดทอใจ : มรดกผ้าไทยร่วมสมัย โดยมีมูลค่าสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 50% โดยมีแนวคิดในการพัฒนาที่สำคัญคือ “มุ่งเน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ผ่านการพัฒนาและออกแบบในความเป็นไทย บนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ผสานเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่า เพื่อให้สามารถสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ”
อุตสาหกรรมเหล็กกล้ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Green Steel) | Industry of Things EP. 6
ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายใหม่กว่า 122 ลาย รวมทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้าและ Accessories กว่า 108 ผลิตภัณฑ์ พัฒนาผู้ประกอบการผ้าไหมและผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจผ้าพื้นเมือง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 1,618 คน สร้างรายได้และสร้างงานให้ชุมชน รวมทั้งสร้างโอกาสทางการตลาดและสร้างยอดขายในประเทศกว่า 6,635,456 บาท และเพื่อขยายผลในเชิงธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม ในเดือนกันยายนนี้ ทางสถาบันฯ ได้เชื่อมโยงตลาด และสร้างความร่วมมือแฟชั่นระดับภูมิภาค เพื่อเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยที่พัฒนาภายใต้โครงการ กับหน่วยงานต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และประเทศอังกฤษ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในตลาดต่างประเทศระดับบน” รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว
การจัดกิจกรรม “มัดทอใจ มรกดกผ้าไทยร่วมสมัย : Minimal Harmony of Thai Silk” เป็นการจัดแสดงนิทรรศการผ้าไหมไทย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ที่พัฒนาภายใต้โครงการ ด้วยการออกแบบลวดลายและใช้เทคนิคการผลิตแบบใหม่ สามารถนำไปใช้ชีวิตประจำวันได้จริง โดยจะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน จนถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมชมนิทรรศการได้ ณ หอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โถงชั้น L