การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เล็งจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำจืด รับมือวิกฤตแล้ง

Date Post
18.05.2020
Post Views

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) .เผย แผนรับมือวิกฤตแล้งในอนาคตด้วยการจัดตั้งบริษัทลูกร่วมลงทุนเอกชน สร้างโรงงานผลิตน้ำจืดจากทะเลที่มีกำลังการผลิต 3 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ช่วยป้อนน้ำให้นิคมอุตสาหกรรมช่วงขาดแคลนน้ำ พร้อมเตรียมสร้างแหล่งน้ำในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่ม สร้างความมั่นใจให้กับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ภาคอุตสาหกรรม และกนอ.จัดทำแผนการจัดหาน้ำเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมโดยไม่ต้องรบกวนน้ำจากภาคการเกษตร และให้เร่งดำเนินการ 3Rs ได้แก่ ลดการใช้น้ำ การนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ และการปรับปรุงน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดการใช้น้ำให้มากที่สุด ซึ่ง กนอ.ก็ได้ดำเนินการในหลักการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันยังได้เตรียมแผนสร้างโรงงานนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืด โดยเบื้องต้นมีแผนตั้งบริษัทลูกเพื่อร่วมลงทุนกับภาคเอกชน เพื่อสร้างความมั่นคงมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อผู้ประกอบการ โดยโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลจะช่วยป้อนน้ำให้กับโรงงานในช่วงที่มีปัญหาภัยแล้ง ทำให้สร้างความมั่นใจว่าจะมีน้ำใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างเพียงพอแน่นอน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโรงงานขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดหลายรายมีโรงงานผลิตน้ำจืดของตัวเองแล้ว แต่โครงการนี้จะช่วยผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด เบื้องต้นคาดว่าจะขยายแผนเดิมเพื่อรองรับภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนราคาขายของน้ำจืดจะทำการตกลงกับผู้ประกอบการก่อน เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระที่สูงจนเกินไป

“โรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลนี้ จะเป็นหลักประกันให้กับโรงงานว่าจะมีน้ำใช้อย่างแน่นอน ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นเช่นไร โดยการผลิตน้ำดังกล่าวจะใช้ในเฉพาะช่วงสั้นๆช่วงฤดูแล้งเท่านั้น แต่ในช่วงอื่นๆก็จะใช้น้ำจากแหล่งน้ำปกติ ทำให้เมื่อเฉลี่ยทั้งปีต้นทุนน้ำจะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก รวมทั้งการตั้งโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในพื้นที่มาบตาพุดก็มีต้นทุนการวางท่อส่งน้ำต่ำกว่าการวางท่อส่งน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ไกล โดยคาดว่าโครงการนี้จะมีความชัดเจนภายใน 2-3 เดือนนี้”นางสาวสมจิณณ์ พิลึก กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีนิคมอุตสาหกรรม ทั้งสิ้น 34 แห่ง แบ่งเป็นในจังหวัดระยอง 15 แห่ง ชลบุรี 15 แห่ง และฉะเชิงเทรา 4 แห่ง โดยแหล่งน้ำหลักที่ใช้ในพื้นที่ขณะนี้รับมาจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ส่วนแหล่งน้ำสำรองมาจากบ่อน้ำในนิคมอุตสาหกรรมและภาคเอกชน

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์