Taiwan-Excellent
การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 10 เดือน ลดลง ร้อยละ 5.1
การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 10 เดือน ลดลง ร้อยละ 5.1

การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 10 เดือน ลดลง ร้อยละ 5.1

Date Post
30.11.2021
Post Views

กรมธุรกิจพลังงาน เผย สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 10 เดือนปี 64 ลดลง ร้อยละ 5.1 ลดลงเกือบทุกกลุ่ม เว้น LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวถึงภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันรอบ 10 เดือนของปี 2564 (มกราคม-ตุลาคม) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.1 โดยการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ลดลงร้อยละ 42.9 กลุ่มเบนซินลดลงร้อยละ 9.3 กลุ่มดีเซลลดลงร้อยละ 5.9 น้ำมันก๊าดลดลงร้อยละ 5.7 อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8  LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 สำหรับการใช้ NGV ลดลงร้อยละ 19.6

3 เทคโนโลยีสำคัญในเครื่องพ่นไฟ จาก Riello ที่จะเพิ่มความคุ้มค่าให้อุตสาหกรรมของคุณ | Vanich Group

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 28.40 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลก ร้อยละ 9.3) เมื่อพิจารณาปริมาณการใช้กลุ่มแก๊สโซฮอล์พบว่าลดลงมาอยู่ที่ 27.75 ล้านลิตร/วัน (ลก ร้อยละ 9.1) การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ อี20 และแก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 6.79 ล้านลิตร/วัน 14.56ล้านลิตร/วัน 5.65 ล้านลิตร/วัน และ 0.74 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ สำหรับการใช้น้ำมันเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 0.66 ล้านลิตร/วัน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการใช้กลุ่มเบนซินเฉพาะเดือนตุลาคม 2564 พบว่า การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 28.56 ล้านลิตร/วัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (เดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 27.25 ล้านลิตร/วัน) (เพิ่ม ร้อยละ 4.8) โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของทุกชนิดน้ำมัน ยกเว้นน้ำมันเบนซิน เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (ลดจาก 29 จังหวัดเป็น23 จังหวัด) โดยบางกิจกรรมสามารถดำเนินการและขยายเวลาการให้บริการได้ (โรงภาพยนตร์ ร้านสะดวกซื้อ ศูนย์การค้า สนามกีฬาร้านอาหาร โรงมหรสพ เปิดได้ถึงเวลา 22.00 น.) การจำกัดการรวมกลุ่มไม่เกิน 50 คน และปรับมาตรการห้ามออกนอกเคหสถานเป็น 23.00 – 03.00 น. (มีผลตั้งแต่ 16 ตุลาคม 2564) เพื่อเตรียมพร้อมการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 60.85 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลก ร้อยละ 5.9) สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้ลดลงมาอยู่ที่ 35.64 ล้านลิตร/วัน (ลด ร้อยละ 19.0) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 21.60 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 1.05 ล้านลิตร/วัน

สำหรับการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเฉพาะเดือนตุลาคม 2564 อยู่ที่ 58.74 ล้านลิตร/วัน ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2563 (ลด ร้อยละ 3.5) เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้ พบว่า ปริมาณการใช้ดีเซลหมุนเร็ว บี7 เพิ่มขึ้นจาก 37.04 ล้านลิตร/วัน มาอยู่ที่ 39.32 ล้านลิตร/วัน สวนทางกับการใช้ดีเซลหมุนเร็วธรรมดาที่ลดลงจาก 20.52 ล้านลิตร/วัน มาอยู่ที่ 12.46 ล้านลิตร/วัน โดยเป็นผลจากส่วนต่างราคา บี7 – บี10 ซึ่งลดลงจาก 3.00 บาท/ลิตร ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2564 เป็นไม่มีส่วนต่างราคาระหว่างวันที่ 11 – 31 ตุลาคม 2564 ตามสัดส่วนผสมไบโอดีเซลขั้นต่ำร้อยละ 6 ของ บี7และบี10 สำหรับการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อการผลิตไฟฟ้าอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ โดยอยู่ที่ 2.10 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากมีการใช้น้ำมันดีเซลทดแทนก๊าซธรรมชาติ

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.36 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลด ร้อยละ 42.9) เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 อย่างไรก็ตาม ภายหลัง ศบค. เห็นชอบการปรับลดวันกักตัวของชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 และต่อมาสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) อนุญาตให้สายการบินขนส่งผู้โดยสารได้ตามความจุของเครื่องบิน ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2564 จึงส่งผลให้การใช้น้ำมัน Jet A1 ในเดือนตุลาคม 2564 เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2564 ซึ่งอยู่ที่ 4.04 ล้านลิตร/วัน มาอยู่ที่ 4.73 ล้านลิตร/วัน เพิ่มร้อยละ 16.9)

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 16.51 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มร้อยละ 8.0) เนื่องจากการใช้ในภาคปิโตรเคมีที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.39 ล้านกก./วัน (เพิ่ม ร้อยละ 21.3) และการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.84 ล้านกก./วัน (เพิ่ม ร้อยละ 11.5) สำหรับภาคครัวเรือนมีการใช้อยู่ที่ 5.59 ล้านกก./วัน (เพิ่มร้อยละ 1.6) อย่างไรก็ตาม การใช้ในภาคขนส่งลดลงมาอยู่ที่ 1.69 ล้านกก./วัน (ลดร้อยละ 17.3)

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.09 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลด ร้อยละ 19.6) โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับจำนวนสถานีบริการและรถ NGV ที่ลดลง

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 885,018 บาร์เรล/วัน ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลด ร้อยละ 1.0) โดยการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 850,968 บาร์เรล/วัน

(ร้อยละ 0.1) มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 57,049 ล้านบาท/เดือน (เพิ่ม ร้อยละ 51.2) สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) ลดลงมาอยู่ที่ 34,049 บาร์เรล/วัน(ลด ร้อยละ 21.5) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 2,162 ล้านบาท/เดือน (เพิ่ม ร้อยละ 14.7) มูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ไบโอดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 199,457 บาร์เรล/วัน ( ร้อยละ 6.4) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 14,280 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มร้อยละ 71.9)

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์