ปัญหามีอยู่ทุกที่และแต่ละปัญหามีความร้ายแรง – ความเร่งด่วนที่ไม่เท่ากัน ในขณะที่ผลกระทบจากการสูญหายของ Cobalt 60 ในปี 2543 ที่เกิดผู้เสียชีวิตและความเสี่ยงตามมาอีกไม่น้อย ในวันนี้ Cesium 137 ที่สูญหายกันอีกครั้งนำมาซึ่งความหวาดหวั่นต่อผลกระทบระยะยาวที่ยังไม่อาจมองเห็นได้แน่ชัดนัก นำไปสู่คำถามว่า ‘เมื่อปัญหาเกิดซ้ำรอยเดิม ทำไมยังเกิดเรื่องร้าย ๆ คล้ายเดิม’
จากกรณีการสูญหายของ Cesium 137 หรือสารกัมมนตภาพรังสีที่ใช้งานในโรงงานไฟฟ้าแห่งหนึ่งที่ถูกพบในภายหลังว่า ‘มีความเป็นไปได้ที่จะถูกหลอมเป็นโลหะไปแล้ว’ จากกรณีพบฝุ่นแดงที่ปนเปื้อน Cesium 137 โดยข้อมูลที่ถูกแถลงโดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติและผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีแจ้งวาไม่พบการปนเปื้อนใด ๆ จาก Cesium 137 ในรัศมี 5 กิโลเมตร ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ หรืออากาศ รวมถึงผู้ปฏิบัติงาน (ณ เวลาปัจจุบัน)
Cobalt 60 บทเรียนราคาแพงที่ถูกหลงลืม
ช่วงต้นปี 2543 เมื่อส่วนหนังของเครื่องมือทางการแพทย์ซึ่งมีการบรรจุ Cobalt 60 ถูกแยกชิ้นส่วนและถูกนำออกมาจากสถานที่จัดเก็บโดยไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ทำให้คนเก็บของเก่าที่ไม่อาจรู้เรื่องราวทำการแยกชิ้นส่วนเพื่อนำไปขาย ผลร้ายที่เกิดขึ้น คือ การแผ่รังสีที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยเป็นผู้ป่วยจำนวน 10 ราย และเป็นผู้ที่ได้รับรังสีปริมาณสูงถึง 3 รายซึ่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา
หนึ่งในข้อสงสัยที่เกิดขึ้นมา คือ การดำเนินการตรวจสอบและกวดขันของสำนักงานรมาณูเพื่อสันติในเวลานั้นที่มีต่อผู้รับผิดชอบ พบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของหนวยงานที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดปัญหาขึ้น ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นว่าในระยะยาวผู้ป่วยอาจเป็นมะเร็งและต้องใช้เวลาในการติดตามยาวนานถึง 20 ปี เพื่อให้แน่ใจในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นแบ่งออกเป็น 2 ประการ ได้แก่ การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับหรือมาตรฐานที่จำเป็น และการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสี
ภายหลังกรณี Cobalt 60 เกิดขึ้นนโยบายและข้อบังคับต่าง ๆจึงถูกยกเครื่องใหม่จำนวนมากเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นอีกครั้ง แต่ทว่าเวลาผ่านไปเพียง 23 ปีปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีของ Cesium 137 นั้นกลับดูรุนแรงกว่าเสียอีก เนื่องจากพยานหลักฐานแวดล้อมชี้ให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่สารกัมมันตภาพรังสีนี้จะถูกกระจายออกไปในสภาพแวดล้อมโดยไม่อาจจับมือใครดมได้ สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะเกิดความสูยเสียและผลกระทบในวงกว้างขึ้น แต่ผู้คนในสังคมก็ไม่ได้เรียนรู้และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับต้นตปัญหามากนักตราบเท่าที่ตัวเองไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง
ความไม่รู้ + ไร้มาตรฐาน ปลายทางคือภัยพิบัติ
แม้จะมีการแถลงอย่างเป็ฯทางการระหว่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติและผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีออกมาแล้ว แต่การแถลงดังกล่าวยังไม่อาจสร้างความกระจ่างให้กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด ในทางกลับกันกลับก่อให้เกิดคำถามและข้อสงสัยขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า Cesium 137 หายไปได้อย่างไร และที่โรงงานดังกล่าวพบเจอสารนี้ได้อย่างไร ในขณะที่การแถลงข่าวเน้นย้ำบ่อยครั้งว่าไม่อาจแน่ใจได้ว่า Cesium 137 นี้ใช้ชิ้นที่หายไปหรือไม่
อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกหยิบหยกขึ้นมาพูดถึงไม่น้อยในการแถลงข่าวครั้งนี้ คือ เครื่องมือสำหรับการตรวจสอบกัมมันตภาพรังสีสำหรับโรงงานที่รับซื้อเหล็กเหล่านี้ โดยคณะทำงานได้เล่าให้เห็นภาพว่าโรงงานรีไซเคิลหรือหลอมเหล็กขนาดใหญ่นั้นจะมีอุปกรณ์เหล่านี้เพื่อคอยตรวจสอบความปลอดภัยก่อนนำส่งเสมอ ในขณะที่โรงงานดังกล่าวนั้นไม่ได้มีเครื่องตรวจจับซึ่งอาจหมายความว่าหากไม่ใช่โรงงานขนาดใหญ่โอกาสเกิดความผิดพลาดเช่นเดียวกันนี้ก็เป็นเรื่องง่าย ซึ่งมีประเด็นที่น่าตั้งคำถามได้แก่
- ทำไม Cesium 137 ที่อยู่สูงกว่า 18 เมตร และอยู่ในพื้นที่เข้าถึงได้ยากจึงหายไป
- มาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องนั้นได้รับการกวดขันแค่ไหน? ในกรณีที่เกิดขึ้นนั้นทุกโรงงานที่รับหลอมโลหะในแนวทางดังกล่าวจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ตรวจสอบกัมมันตรังสีทุกแห่งเลยหรือไม่อย่างไร
- การกวดขันและการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบนั้นมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสถานการณ์แค่ไหน? แม้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีแนวโน้มความร้ายแรงสูงแต่การประกาศข่าวหรือข้อมูลยังสามารถรอได้เป็นเวลานาน
ในกรณีของ Cobalt 60 และ Cesium 137 นั้นแม้จะแตกต่างกันในแนวโน้มผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น แต่โดยหลักแล้วการขาดแคลนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายในวิชาชีพเป็นประเด็นสำคัญลำดับแรก และปัญหาลำดับต่อมา คือ ความเข้มงวดกวดขันของผู้รับผิดชอบจากภาครัฐไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่ต้องรัดกุมขึ้นหรือการบังคับลงโทษผู้ครอบครองที่บกพร่องเป็นตน เมื่อปัจจัยทั้งสองมารวมกันจึงก่อให้เกิดความเสียหายหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้างอย่างที่เห็น ณ เวลานี้
แม้ว่าคณะทำงานจะยืนยันการตรวจการแพร่กระจายในสภาพแวดล้อมโดยรอบ 5 กิโลเมตรว่าไร้การปนเปื้อนแล้วก็ตาม แต่การที่ไม่อาจสืบสาวหาความเป็นมาที่เกี่ยวข้องได้ก็ยังก่อให้เกิดคำถามถึงเส้นทางขนย้าย และความผิดพลาดอื่น ๆ ที่อาจถูกละเลยหรือสังเกตได้ยากด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากตัวโรงงานหลอมเหล็กแล้ว ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหรือธุรกิจอื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงก็ถูกตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในการบริโภคหรือใช้บริการด้วยเช่นกัน ซึ่งคำตอบของคณะที่งานที่ใช้เครื่องมืออันทันสมัยและมีความแม่นยำก็ไม่อาจมอบความไว้ใจให้ได้หากไม่อาจสร้างความโปร่งใสในกรณีที่เกิดขึ้นได้
‘ความปลอดภัย’ บทเรียนสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องส่งเสียงให้ดังและภาครัฐต้องไม่ปัดความรับผิดชอบ
จากกรณีของทั้ง Cobalt 60 และ Cesium 137 นั้นภาครัฐมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการบังคับใช้ข้อกำหนด กฎหมาย รวมถึงปรับปรุงนโยบายต่าง ๆ ให้มีความรัดกุมและบังคับใช้ให้แน่นหนามากยิ่งขึ้น และในส่วนของภาคเอกชนเองการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดจนความรับผิดชอบที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดกลายเป็นส่วนสำคัญที่ละเลยไม่ได้หากยังมีความตอ้งการใช้งานสารกัมมันตภาพรังสีที่มีความอันตรายเหล่านี้ต่อไป
หนึ่งในประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกต คือ ข้อบังคับที่ผู้ครอบครองสารกัมมันตภาพรังสีต้องแจ้งหน่วยงานโดยพลันเมื่อพบว่าสารอันตรายหายไป แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นนั้นมีการแจ้งความเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมาในขณะที่แหล่งข้อมูลแจ้งว่าเกิดการสูญหายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ สะท้อนให้เห็นถึงการตื่นตัวและความรับผิดชอบของหน่วยงานเอกชนที่ครอบครองรังสีอันตราย
ภาคเอกชนที่ต้องเกี่ยวข้องกับรังสีอันตรายเหล่านี้จึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการตรวจสอบความปลอดภัย และต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ได้มาตรฐานในการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานจริง หนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจ คือ การกำหนดสิทธิ์เข้าถึงพื้นที่จัดเก็บ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการดูแลรักษาความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่ภาครัฐกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมถึงการสร้างความเข้าใจต่อผู้ปฏิบัติงานในความสำคัญและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
อ้างอิง:
https://www.thaipbs.or.th/news/content/252967
https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/45126
https://www.dailynews.co.th/news/2117640/