Taiwan-Excellent

ดัชนีความเชื่อมั่น SME เดือน มิ.ย.ฟื้นตัวต่อเนื่อง

Date Post
30.07.2020
Post Views

สสว. เผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือนมิถุนายน 2563 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เป็นผลมาจากมาตรกการผ่อนคลายและเยียวยา โควิด-19 จากภาครัฐ

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ประจำเดือนมิถุนายน 2563 ว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ระดับ 40.9 มาอยู่ที่ระดับ 49.3 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และ      เข้าใกล้ค่าฐานระดับ 50 เป็นอย่างมาก ซึ่งถือว่าสูงที่สุดตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นต้นมา สะท้อนภาพรวมภาวะธุรกิจ SME ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน

โดยเป็นผลจากการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 3 และ 4 ทำให้สถานประกอบการเกือบทั้งหมดเริ่มเปิดกิจการได้ และเกิดความคล่องตัวในการเดินทางภายในประเทศ และสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ในประเทศก็คลี่คลายลงอย่างมาก ทำให้ประชาชนดำเนินชีวิตและออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวในทุกสาขาธุรกิจ และทุกภูมิภาค

ทั้งนี้สาเหตุของดัชนีความเชื่อมั่นฯ เพิ่มขึ้น เนื่องจากองค์ประกอบด้านปริมาณการผลิต การค้าและบริการ คำสั่งซื้อ กำไร การลงทุน และการจ้างงาน ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.1 50.0 49.7 49.5 และ 48.4 ตามลำดับ

“แม้ว่าดัชนีฯ จะปรับตัวดีข้นทุกภาคธุรกิจ แต่องค์ประกอบด้านการจ้างงานและการลงทุนเพิ่มขึ้นน้อยเมื่อเทียบกับองค์ประกอบด้านอื่นๆ สะท้อนให้เห็นถึงการพยายามควบคุมต้นทุนของกิจการหลังการเผชิญวิกฤตในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนั้นองค์ประกอบด้านต้นทุนก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.0 จากความกังวล ในประเด็นต้นทุนสินค้าอย่างมาก”

ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นฯในแต่ละภาคธุรกิจนั้น ในภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 49.9 48.7 และ 49.4 ตามลำดับ โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางภายในประเทศมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อาทิ บริษัทจำหน่ายตั๋วสายการบิน และบริการขนส่งผู้โดยสาร (ไม่ประจำทาง) ที่มียอดจำหน่ายตั๋ว และการใช้บริการเดินทางเพิ่มขึ้น รวมไปถึงบริการขนส่งสินค้า เพราะการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 4 โดยเฉพาะการยกเลิกเคอร์ฟิวที่ช่วยลดอุปสรรคการเดินทางภายในประเทศลงเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม แม้ทุกสาขาจะมี การปรับตัวดีขึ้น แต่เกือบทุกสาขายังมีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่ำกว่าค่าฐาน 50 ทำให้ยังควรติดตามสถานการณ์ SME อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการ SME ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค โดยดัชนี           ความเชื่อมั่นฯ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 46.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 37.1 เนื่องจากมาตรการผ่อนปรนจากภาครัฐ ช่วยให้สถานประกอบการต่างๆ เปิดกิจการและมีความคล่องตัว            มากขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 49.7 เพิ่มขึ้นจาก 44.3 เพราะมีการขยายตัวของสาขาที่พักและโรงแรมขนาดเล็กและกลางที่เริ่มมีนักท่องเที่ยว และการจองห้องพักล่วงหน้ามากขึ้น รวมไปถึงการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตและจำหน่ายสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า และอาหารที่เป็นของฝากที่ระลึก

ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 51.9 เพิ่มขึ้นจาก 43.3 เพราะข้าวเปลือกมีราคาดี และจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร ทำให้กลุ่มเกษตรกรมีกำลังซื้อภายในภูมิภาคเพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออก ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 50.4 เพิ่มขึ้นจาก 38.1 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้ภาคการผลิตโดยเฉพาะผลิตอาหาร และเครื่องดื่มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 49.9 เพิ่มขึ้นจาก 47.9 เป็นผลมาจากการที่ภาครัฐอนุญาตให้ประชาชนใช้พื้นที่สาธารณะตามทะเลและชายหาดได้มากขึ้น อีกทั้งเริ่มมีการให้บริการเที่ยวบินในประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวขยายตัวมากขึ้น แม้ว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 49.9 เพิ่มขึ้นจาก 38.9 เนื่องจากการยกเลิกเคอร์ฟิว ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งสินค้า และสถานีน้ำมันปรับตัวดีขึ้นตาม

นายวีระพงศ์ กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 62.5 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 60.6 เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสถานการณ์ในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น และการออกมาตรการ “เที่ยวปันสุข” ของภาครัฐจะใช้กระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในอนาคต ทำให้ผู้ประกอบการ SME คาดการณ์แนวโน้มการจำหน่ายสินค้าและบริการยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังมีความกังวลเรื่องต้นทุนสินค้า และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่เน้นนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยเฉพาะ SME ในภาคใต้

ส่วนปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อกิจการ SME ประเทศในเดือนนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและอำนาจซื้อของประชาชน 2. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค 3. มาตรการในด้านต่างๆ ของรัฐบาล 4. การแข่งขันในตลาด และ 5. ราคาต้นทุนสินค้าและค่าแรงงาน

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์