บางจาก – บีบีจีไอ – วช. – มทร.อีสาน ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการนวัตกรรมสีเขียวเพื่อทดลองผลิต Sustainable Aviation Fuel (SAF) หรือเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืนจากเอทานอล สู่การพัฒนาน้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำ
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการนวัตกรรมสีเขียวเพื่อทดลองผลิต Sustainable Aviation Fuel (SAF) หรือเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืนจากเอทานอล สู่การพัฒนาน้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำจากฐานงานวิจัย เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการวิจัย “การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากฟูเซลแอลกอฮอล์ที่ได้จากโรงงานเอทานอล” เมื่อปี พ.ศ. 2563 ดำเนินการโดย มทร. อีสาน ภายใต้การสนับสนุนการวิจัยโดย วช. ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าของเอทานอลจากการเปลี่ยนเป็นแก๊สโซฮอล์ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงในการผลิต SAF และช่วยส่งเสริมการพัฒนาเครือข่าย Supply Chain ของเชื้อเพลิงชีวภาพ ตอบรับความต้องการใช้งาน SAF ที่กำลังขยายตัวสูงขึ้นเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก พร้อมรองรับการก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่การใช้พลังงานสะอาด
สุทธิพงษ์แห่งวานิชกรุ๊ป ปั้นแบรนด์อุตสาหกรรมสู่ยอดพันล้าน | Vanich Group
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทบางจาก กล่าวว่า บางจากตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ. 2593 โดยเป้าหมายแรกคือความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี พ.ศ. 2573 เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพแทนการใช้ฟอสซิล เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคขนส่ง
“การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญเพื่อขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ที่บางจากฯ ได้นำเอาความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและประสบการณ์ในการกลั่นผลิตภัณฑ์เชิงอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงการบิน และความชำนาญในธุรกิจเอทานอลของบริษัท บีบีจีไอฯ ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและกำลังรุกเข้าสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง มาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ SAF สนับสนุนอุตสาหกรรมการบินที่ยั่งยืน โดยเครื่องบินสามารถขับเคลื่อนโดย SAF โดยไม่ต้องมีการดัดแปลงเครื่องยนต์ใดๆ” นายชัยวัฒน์ กล่าว
ด้านนายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การศึกษาต่อยอดจากฐานงานวิจัยเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในการส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์ชีวภาพในประเทศให้มีมูลค่าสูงขึ้น จากวัตถุดิบภาคการเกษตรที่มีอยู่มากมาย พัฒนาเป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำที่มีประโยชน์มหาศาลต่ออุตสาหกรรมการบิน โดยองค์ความรู้ในการผลิต SAF นี้ มีฟูเซลแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการกลั่นเอทานอลเป็นวัตถุดิบ ซึ่งบีบีจีไอฯ มีโรงงานผลิตและจัดจำหน่ายไบโอดีเซลและเอทานอล ด้วยโรงงานผลิตไบโอดีเซลกำลังการผลิตรวม 1,000,000 ลิตรต่อวัน และโรงงานผลิตเอทานอลที่มีกำลังการผลิตรวมสำหรับเอทานอลทั้งหมด 600,000 ลิตรต่อวัน ทำให้มีความเชี่ยวชาญเต็มศักยภาพและพร้อมสนับสนุนการศึกษาครั้งนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าจากกระบวนการผลิตเอทานอลและสนับสนุนนวัตกรรมพลังงานสีเขียว ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในนามกลุ่มบางจากฯ
ด้านดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า โครงการวิจัย “การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากฟูเซลแอลกอฮอล์ที่ได้จากโรงงานเอทานอล” นี้ประสบผลสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการหรือ Lab Scale ในการผลิตน้ำมันชีวภาพ สำหรับใช้ในเครื่องบินซึ่งเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูงจากวัตถุดิบที่เรียกว่า “ฟูเซล (Fusel)” ของโรงงานผลิตเอทานอลที่มีวัตถุดิบจากอ้อย มันสำปะหลัง และกากส่า ถือเป็นพืชเศรษฐกิจตามการส่งเสริมของนโยบายภาครัฐ
และได้ศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์และการลงทุนเพื่อผลิตน้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำจากผลิตภัณฑ์พลอยได้ของโรงงานเอทานอล สำหรับส่งออกและใช้ภายในประเทศ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า โครงการวิจัย “การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากฟูเซลแอลกอฮอล์ที่ได้จากโรงงานเอทานอล” เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากกระบวนการหมักวัสดุทางการเกษตรเพื่อเปลี่ยนเป็นน้ำมัน SAF ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการยกระดับเทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรมสีเขียวให้กับภาคอุตสาหกรรม และเป็นแพลตฟอร์มที่ดีที่หน่วยงานของภาครัฐทำหน้าที่ช่วยผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขึ้นในภาคธุรกิจ ทั้งจากการให้ทุนวิจัยและจับคู่พันธมิตร ด้านงานวิจัยให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน