บางจาก เร่งศึกษา Blue Carbon หนุนเกาะหมาก Low Carbon Destination
บางจาก เร่งศึกษา Blue Carbon หนุนเกาะหมาก Low Carbon Destination

บางจาก เร่งศึกษา Blue Carbon หนุนเกาะหมาก Low Carbon Destination

Date Post
27.06.2022
Post Views

กลุ่มบางจาก ร่วมพัฒนาพื้นที่เกาะหมากสู่เป้าหมายการเป็น Low Carbon Destination โดยการสนับสนุนคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษา Blue Carbon จากการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังภาคตะวันออกเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามความร่วมมือพัฒนาพื้นที่และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสู่ Low Carbon Destination หมู่เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด ร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)  ร่วมเป็นพยาน  

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาพื้นที่เกาะหมากสู่เป้าหมายการเป็น Low Carbon Destination ในครั้งนี้ กลุ่มบางจากฯ จะร่วมสนับสนุนพื้นที่เกาะหมากซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายแห่งแรกในโครงการแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำของประเทศไทยที่ อพท. เป็นผู้ริเริ่มการขับเคลื่อน ผนวกกับการใส่ใจดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังจากชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบของประเทศในการร่วมบรรเทาภาวะวิกฤติของโลกด้านสภาพภูมิอากาศ  โดยการสนับสนุนคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการศึกษา Blue Carbon จากการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังภาคตะวันออกเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติจากหญ้าทะเลนี้ กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั่วโลก โดยข้อมูลของ IUCN (International Union for Conservation of Nature) เมื่อปีที่แล้ว รายงานว่าหญ้าทะเลเป็นพืชกลุ่มเดียวที่อยู่ในทะเลเต็มตัวจึงมีความสามารถเฉพาะตัวในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกถึง 7-10 เท่า  

illumina NextSeq™ 2000 เครื่องทดสอบสารพันธุกรรมอัจฉริยะ | Bio-Active [Super Source]

นอกจากนี้ กลุ่มบางจากฯ ยังมีภารกิจอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ อาทิ การนำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie ไปให้ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ทดลองใช้เพื่อศึกษาความเหมาะสม ผ่าน อบต. เกาะหมาก รวมถึงสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เช่นถุงมือและเสื้อที่ผลิตจากขวด PET รีไซเคิลมอบให้ทีมอาสาสมัคร Trash Heroes Koh Mak สำหรับเก็บขยะชายหาด และทีมงานวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด ใช้สำหรับกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเล รวมถึงมีการศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมืออื่น ๆ เช่น โรงเรียน Net Zero จากการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เป็นต้น

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุริยัน ธัญกิจจานุกิจ คณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
กล่าวว่า โครงการ Blue Carbon ในแหล่งหญ้าทะเล เกาะหมาก-เกาะกระดาด นำทีมโดยผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ เริ่มทำการสำรวจโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งการแปลข้อมูลดาวเทียมและการใช้โดรนรูปแบบต่าง ๆ สำรวจทางอากาศ พร้อมกับการสำรวจภาคสนามและการดำน้ำประเมินศักยภาพของพื้นที่ โดยสำรวจทั้งหมด 8 แหล่งทั่วเกาะหมาก/เกาะกระดาด จัดระดับตามศักยภาพเป็น 3 กลุ่มหลัก 5 กลุ่มย่อย 

โดยมีแหล่งหญ้าทะเลบริเวณด้านตะวันตกของเกาะกระดาด ได้รับการประเมินว่ามีศักยภาพสูงสุดในด้าน Blue Carbon คณะผู้วิจัยจึงทำการสำรวจในรายละเอียด โดยทำแผนที่การแพร่กระจายของหญ้าทะเลทั้งหมด 4 ชนิดที่พบในพื้นที่นี้ รวมถึงแหล่งสาหร่ายขนาดใหญ่ เช่น สาหร่ายซากัสซั่ม สาหร่ายพวงองุ่น ปะการัง ฯลฯ จากนั้นจึงเจาะสำรวจคาร์บอนที่สะสมอยู่ใต้พื้นท้องทะเล โดยใช้วิธีตามมาตรฐานสากล สามารถเปรียบเทียบกับผลการศึกษานานาชาติได้ (IUCN, 2021)

“ผลการสำรวจพบว่า แหล่งหญ้าทะเลมีความซับซ้อนมาก คาดว่ามีการสะสมคาร์บอนได้เป็นอย่างดี แต่จำเป็นต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ในรายละเอียด นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีต พบว่าแหล่งหญ้าทะเลมีความเสถียรสูงมาก ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยยะจากมนุษย์ แสดงถึงการดูแลรักษาทะเลในพื้นที่ของประชาชนเกาะหมากที่ทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สภาพความสมบูรณ์เช่นนี้มีประโยชน์ในด้านการกักเก็บคาร์บอนในระยะยาว อันจะมีส่วนสำคัญต่อแผนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังพบว่าแหล่งหญ้าทะเลมีความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำสูงมาก ทั้งปูม้า หอยจอบ ปลาชนิดต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 20 ชนิด ที่ช่วยสนับสนุนอาชีพประมงพื้นบ้านและการท่องเที่ยวในพื้นที่ ทั้งนี้ การดำเนินงานขั้นต่อไป จะวิเคราะห์ข้อมูลดูดซับ/กักเก็บคาร์บอน และทำการสำรวจเพิ่มเติม ตลอดจนวางแผนในการปลูกหญ้าทะเลโดยใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด”

ด้านนาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่มีภาคเอกชน เช่น บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ให้เกียรติเข้ามามีส่วนร่วมให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ อพท.ที่ต้องการผลักดัน“เกาะหมาก” จังหวัดตราด พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในความดูแลของ อพท.ให้ยกระดับขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม หรือ โลว์คาร์บอนเดสติเนชั่น (Low Carbon Destination)  ด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมภาคการท่องเที่ยวให้น้อยกว่าแหล่งท่องเที่ยวโดยทั่วไป และยกระดับให้เกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ Circular Economy มีแผนจัดการขยะการท่องเที่ยวของประเทศไทย

“สิ่งที่ อพท. กำลังดำเนินการที่เกาะหมากคือ ทำอย่างไรให้การปล่อยคาร์บอนจากภาคการท่องเที่ยวมีปริมาณที่ลดลง รวมไปถึงการหากิจกรรมการท่องเที่ยวที่จะช่วยดูดซับคาร์บอน เพื่อที่จะชดเชยคาร์บอนที่ถูกปล่อยจากกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะหมาก โดยใช้หลักคิดแบบตรงไปตรงมาว่าคาร์บอนถูกปล่อยที่ไหน ก็หากิจกรรมเพื่อดูดซับคาร์บอนที่นั่นเป็นลำดับแรก”

สำหรับความร่วมมือกับ บริษัท บางจากฯ และ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขับเคลื่อนโครงการ Blue Carbon ในแหล่งหญ้าทะเล เกาะหมาก-เกาะกระดาด นับเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญมาก เพราะหญ้าทะเลมีความสามารถเฉพาะตัวในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกถึง 7-10 เท่า หากสามารถเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และขยายพื้นที่ของหญ้าทะเลให้มีปริมาณมากขึ้น จะเป็นผลดีต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศของเกาะหมาก อีกทั้งหญ้าทะเลจะช่วยดูดซับและชดเชยคาร์บอนได้ดีอีกด้วย การทำงานตามแนวทาง Circular Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่รู้จบ  อพท. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ “การจัดการขยะภาคการท่องเที่ยวบนเกาะหมาก” เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะบนเกาะหมากอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยหลักคิดที่เริ่มจากลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่จะก่อให้เกิดเป็นขยะ และมีการบริหารจัดการขยะบนเกาะโดยเน้นการนำมาหมุนเวียนเพื่อการใช้ประโยชน์ให้ยาวนานที่สุด และสุดท้ายคือการเข้าสู่กระบวนการกำจัดอย่างถูกวิธี ด้วยเป้าหมายการผลักดันเกาะหมากขึ้นเป็นพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์