บีไอจี-ปตท เตรียมสตาร์ทโรงแยกอากาศด้วยการนำเทคโนโลยีแลกเปลี่ยนความเย็นจาก LNG แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งเป้าผลิตเชิงพาณิชย์ปลายกันยายนนี้ มุ่งผลักดันเป้าหมายลดคาร์บอนให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ พร้อมขยายกำลังการผลิตออกซิเจนป้อนระบบสาธารณะสุข
นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (บีไอจี) ในฐานะผู้นำนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมของประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการโรงแยกอากาศแห่งใหม่ (Air Separation Unit : ASU) ในนาม บริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ จำกัด (Map Ta Phut Air Products Co., Ltd. : MAP) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนเพื่อต่อยอดนวัตกรรมร่วมกันระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (บีไอจี) ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง พร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนกันยายนนี้ ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท และมีกำลังการผลิตก๊าซอุตสาหกรรม 450,000 ตันต่อปี
Review | NEODO เม็ดมีดกัดชนิดถอดเปลี่ยนได้ เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต [Super Source]
นับเป็นโรงแยกอากาศแห่งแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้เทคโนโลยีการแยกอากาศโดยอาศัยพลังงานความเย็นที่ได้จากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่คลังเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal)ลดการพึ่งพาการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการแยกอากาศ ทำให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ (Carbon Emissions) สู่ชั้นบรรยากาศลดลง ซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นเทรนด์ของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกที่กำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเวลานี้
- “บีไอจี” มั่นใจออกซิเจนทางการแพทย์ไม่ขาด
- ปตท.-บีไอจี วางศิลาฤกษ์หน่วยแยกอากาศ LNG แห่งแรกของไทย
- อมตะ-บีไอจี เปิดบริษัทลูก “ABIG” ตั้งโรงงานผลิตก๊าซอุตสาหกรรมรับอีอีซี
“โครงการโรงแยกอากาศที่ใช้พลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แห่งนี้ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของทั้ง ปตท และ บีไอจี ที่จะผลักดันการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 28,000 ตันต่อปี และลดการปล่อยน้ำเย็นลงสู่ทะเล 2,500 ตันต่อชั่วโมง พร้อมสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นส่วนสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions” นายปิยบุตรกล่าว
โรงแยกอากาศแห่งใหม่นี้ สามารถผลิตได้ทั้งออกซิเจน ไนโตรเจน และอาร์กอน โดยเฉพาะออกซิเจนเหลวสามารถผลิตได้ 140 ตันต่อวัน เมื่อรวมกำลังการผลิตออกซิเจนเหลวเดิมทั้งหมดของบีไอจีแล้ว จะทำให้กำลังการผลิตออกซิเจนเหลวของบีไอจีเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,100 ตันต่อวัน ซึ่งเป็นกำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดย ปตท และ บีไอจี จะนำออกซิเจนเหลวที่ผลิตได้ เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งมีความสำคัญภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยวิกฤตอยู่ในอัตราที่สูง