พิมพ์ภัทรา 

พิมพ์ภัทรา  สั่ง สมอ. ออกประกาศมาตรฐาน Soft power ด้านท่องเที่ยว

Date Post
18.12.2023
Post Views

“พิมพ์ภัทรา” ขานรับนโยบาย Soft power  สั่ง สมอ. ออกประกาศมาตรฐาน Soft power ด้านท่องเที่ยว ภายใน ธ.ค.66 นี้ เชื่อ ธุรกิจท่องเที่ยวนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทาง จะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพการให้บริการ และนำไปสู่การกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้เข้าประเทศ ถือเป็น Soft Power ด้านหนึ่งของประเทศไทยโดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2566 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว สะสมรวมกว่า 1.045 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 613,030 ล้านบาท และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย 432,194 ล้านบาท ตนจึงเร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานที่ตอบโจทย์และรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวระดับโลกที่เน้นคุณภาพ โดย สมอ. เตรียมประกาศมาตรฐาน Soft Power ด้านการท่องเที่ยว จำนวน 6 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสถานที่ธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ภายในเดือนธันวาคมนี้ หากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทาง จะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพการให้บริการ และนำไปสู่การกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

หุ่นยนต์งูที่ใช้สำรวจภูมิประเทศและสิ่งมีชีวิตนอกโลกของ NASA! 

นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. เตรียมประกาศมาตรฐาน Soft power ด้านการท่องเที่ยว จำนวน 6 เรื่อง ภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบการจัดการต่างๆ ภายในหน่วยงาน และเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจที่ผู้ประกอบการนำไปใช้ได้โดยไม่ได้มีกฎหมายบังคับ ได้แก่

1) มาตรฐานการเยี่ยมชมสถานที่ทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับผู้ให้บริการสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรม โดยพนักงานและไกด์นำเที่ยวต้องมีความรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ สามารถจัดเตรียมข้อมูลในการท่องเที่ยวได้อย่างถูกต้อง รวมถึงมีแผนรองรับเหตุฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว 

2) มาตรฐานการดำเนินงานเกี่ยวกับชายหาด เป็นมาตรฐานสำหรับผู้ดูแล ผู้ประกอบการริมชายหาด และผู้ใช้บริการ โดยต้องมีการสร้างอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยว มีการเตรียมการด้านสุขภาพและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว มีการดูแลความสะอาดของชายหาด รวมถึงมีแผนรองรับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น 

3) มาตรฐานโรงแรมย้อนยุค เป็นมาตรฐานสำหรับเจ้าของกิจการโรงแรม นำไปใช้เป็นแนวทางในการให้บริการนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และสถาปัตยกรรมย้อนยุค โดยเน้นที่ความเข้ากันของอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ และรูปแบบการให้บริการของโรงแรมที่ตรงตามยุคสมัยนั้น ๆ

4) มาตรฐานร้านอาหารแบบดั้งเดิม เป็นมาตรฐานการให้บริการด้านอาหารในรูปแบบดั้งเดิม ได้แก่ รูปลักษณ์ภายนอก การผสมผสานทางวัฒนธรรม และการให้บริการที่สอดคล้องกับรูปแบบของร้าน เช่น การจัดสถานที่ อุปกรณ์ การจัดโต๊ะอาหาร การออกแบบรายการอาหาร เป็นต้น รวมทั้งต้องมีการรักษาความสะอาดของอาหาร อุปกรณ์ต่างๆ ให้มีความปลอดภัยด้วย 

5) มาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เป็นมาตรฐานการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการรักษาทางการแพทย์ สำหรับผู้อำนวยความสะดวกและผู้ให้บริการสามารถใช้เป็นแนวทางในการให้บริการอย่างมีคุณภาพและเป็นไปตามความคาดหวังของนักท่องเที่ยว โดยผู้ให้บริการต้องมีความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ และมีความรู้ด้านการเดินทางและดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละช่วงเวลาการรักษา เพื่อให้การบริการมีความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว

6) มาตรฐานการบริการนักท่องเที่ยวเพื่อสาธารณะประโยชน์โดยหน่วยงานคุ้มครองพื้นที่คุ้มครองธรรมชาติ เป็นมาตรฐานสำหรับอุทยานหรือหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่คุ้มครองทางธรรมชาติในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว โดยเน้นการอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครองธรรมชาติ และสร้างความพึงพอใจแก่นักท่องเที่ยว เป็นแนวทางในการจัดเตรียมกิจกรรม ข้อมูลและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างเหมาะสม และมีความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว โดยไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบข้างและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการจัดการขยะต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวอย่างถูกต้องด้วย

ซึ่งมาตรฐานทั้ง 6 เรื่องนี้ จะประกาศใช้ภายในเดือนธันวาคมนี้ ผู้ประกอบการสามารถนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานได้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย และเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวระดับโลกได้ต่อไป” นายวันชัยฯ กล่าว

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์