แม้ความสามารถในการทำงานของมนุษย์อาจมีข้อจำกัดต่าง ๆ อาทิ ข้อจำกัดทางกายภาพ ความอ่อนเพลีย สมองเหนื่อยล้า หรือสภาพจิตใจ ซึ่งเป็นข้อจำกัดพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘มนุษย์’ มาแต่ไหนแต่ไร แต่ข้อจำกัดเหล่านี้ก็ได้รับการแก้ไขด้วยเทคโนโลยีมาโดยตลอด เช่น รอก/เครน เครื่องพิมพ์ดีด คอมพิวเตอร์ รถยนต์ โทรศัพท์ ไปจนถึงเครื่องจักร ซึ่งวันนี้คงไม่มีใครจะกังวลว่าเครื่องตอกเสาเข็มจะทำให้คนงานก่อสร้างตกงาน ตรงกันข้าม เครื่องจักรก่อสร้างกลับทำให้อาชีพดังกล่าวเป็นที่ต้องการมากขึ้นเนื่องจากธุรกิจก่อสร้างได้รับการพัฒนา (ยกเว้นถ้าคุณยึดติดว่า ฉันจะเป็นคนงานก่อสร้างที่ทำหน้าที่ตอกเสาเข็มเท่านั้น!) ดังนั้น สุดท้ายแล้วไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น ทางรอดของมนุษย์หรือแรงงาน คือ ความสามารถในการปรับตัวและพัฒนาตัวเองเพื่อสร้างพื้นที่ในยุคแห่งเทคโนโลยี และสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ เลิกกังวล และทำความเข้าใจข้อดี-ข้อจำกัดของเทคโนโลยีเสียก่อน
นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาดีหรือมาร้าย
แรกเริ่มเดิมทีเทคโนโลยีต่าง ๆ เกิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการทำงานและจัดการกับอันตรายที่เกิดขึ้น เช่น การยกของที่มีน้ำหนักมากเกินไป การทำงานในพื้นที่ปนเปื้อนสารเคมี หรือการทำงานในพื้นที่เสี่ยง การทำงานดังกล่าวถือเป็นการสนับสนุนการทำงานของมนุษย์ลดการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นต่อแรงงาน เครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติจึงไม่ใช่ศัตรูของแรงงานและไม่ได้หมายถึงการแทนที่แรงงานเสมอไป เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติเองก็เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน มีทั้งข้อดีและข้อจำกัดเบื้อง เช่น
ข้อดี
- ลดระยะเวลาการผลิต
- เพิ่มความแม่นยำในการทำงาน
- ลดความผิดพลาดจากความบกพร่องของมนุษย์
- สามารถทำงานซ้ำไปซ้ำมาได้อย่างรวดเร็วต่อเนื่อง
- ลดการบาดเจ็บในการปฏิบัติงาน
- ตอบสนองต่อการผลิตสินค้าจำนวนมาก
- สามารถวางแผนและจัดการสายการผลิตได้ครบถ้วน
ข้อจำกัด
- เงินลงทุนสูง
- ต้องการพนักงานที่มีทักษะ
- โอกาสเกิดมลพิษสูงกว่า
- ขาดความหลากหลายหรือความยืดหยุ่นในขั้นตอนการผลิต
- เพิ่มต้นทุนด้านการบำรุงรักษา
จากข้อจำกัดดังกล่าว เราจะเห็นได้ถึงข้อได้เปรียบของแรงงานมนุษย์ คือ ความสามารถในการปรับตัว การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ รวมถึงความสามารถในการต่อยอดพลิกแพลงกระบวนการทำงาน ดังนั้น หากสามารถผสานรวมการทำงานอันทรงพลังของเทคโนโลยีเข้ากับความรู้ความสามารถของแรงงานจะสามารถทำให้เกิดการทำงานอันยั่งยืน รวมถึงสร้างพื้นที่ของแรงงานในยุคใหม่ได้อย่างปลอดภัย
เมื่อโลกเปลี่ยนแรงงานต้องปรับ
การทำความเข้าใจทักษะของแรงงานเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเลือกอาชีพและเตรียมความพร้อมสำหรับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิตยุคใหม่ พนักงานควรสำรวจระดับความเสี่ยงของตัวเอง โดยเบื้องต้นแบ่งได้เป็น 3 ระดับดังนี้
- แรงงานทักษะน้อย แรงงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หรือขั้นตอนที่มีความซับซ้อนต่ำ เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร การทำงานที่มีกิจกรรมซ้ำ ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก นับเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการมาถึงของระบบอัตโนมัติสูง
- แรงงานทักษะปานกลาง สามารถทำการผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนระดับปานกลางได้ เช่น เคมีภัณฑ์ ประกอบยานยนต์ อุปกรณ์การแพทย์ หรืออุตสาหกรรมด้านพลังงาน แรงงานในกลุ่มนี้มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีรวมถึงทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการสังเกตุการณ์และปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้บ้าง
- แรงงานทักษะสูง สามารถทำการผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนสูง เช่น อากาศยาน อาวุธ อุปกรณ์ระบบสื่อสารหรือนำร่อง สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงต่าง ๆ รวมถึง การผลิตสินค้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังสูง แรงงงานในกลุ่มนี้มีทั้งทักษะในการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี อีกทั้งยังมีทัศนคติในการคิดปรับเปลี่ยน แก้ไขปัญหา และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ
จากการวิจัยของนักวิจัย สกว. พบว่าภาพรวม 73% ของแรงงานในไทยเป็นแรงงานทักษะน้อย ซึ่งงานนั้น ๆ มีโอกาสถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติได้ ในขณะที่ตลาดอุตสาหกรรมทั่วโลกเน้นการใช้งานระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีขั้นสูงในสายการผลิต อาทิ เครื่องพิมพ์ 3 มิติหรือหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เพิ่มคุณภาพสินค้าและลดระยะเวลาการผลิต หากประเทศไทยไม่ปรับตัวก็จะขาดความสามารถในการแข่งขัน แรงงานก็อาจตกงานอยู่ดีหรือ ดังนั้น ทางออกที่เหมาะสมจึงไม่ใช่ ‘การต่อต้าน’ ระบบอัตโนมัติแต่เป็นทัศนคติในการการพัฒนายกระดับและแสวงหาตำแหน่งงานใหม่เพื่อสร้างความยั่งยืน หากไม่ปรับตัวในวันนี้อาจไม่มีวันข้างหน้า อย่างน้อยที่สุดต้องรู้จักและใช้งานเทคโนโลยีพื้นฐานสำหรับแรงงานยุคปัจจุบันให้เป็น
“The price of doing the same old thing is far higher than the price of change” Bill Clinton
“ราคาค่างวดสำหรับการทำอะไรเดิม ๆ นั้นสูงกว่าราคาของการเปลี่ยนแปลง” Bill Clinton อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
เทคโนโลยีสนับสนุนแรงงานยุคใหม่
การเรียนรู้และใช้งานเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายดายแตกต่างจากสมัยก่อน ระบบอินเตอร์เนทและสมาร์ทโฟนสามารถเปิดโอกาส สำหรับแรงงานได้อีกมาก เช่น หลักสูตรการเรียนฟรีจาก Coursera.org หรือแอปพลิเคชันบรรจุข้อมูลสำหรับวิศวกรต่าง ๆ ที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ นอกจากค่าไฟกับค่าบริการไวไฟ
หากไม่นับเทคโนโลยี ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพัฒนา แรงงานมนุษย์ยังคงเป็นศูนย์กลางของการทำงานเพราะความสามารถในการตัดสินใจตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ โดย MM Thailand ได้เลือกตัวอย่างเทคโนโลยีที่ต้องการทักษะของแรงงานที่ไม่สูงมากนักและไม่เข้ามาแทนที่แรงงาน ซึ่งแรงงานที่เข้าใจสิ่งเหล่านี้จะมีโอกาสยกระดับหน้าที่งานและรายได้
-
Exoskeleton
ความต้องการทักษะแรงงาน: ต่ำ
Exoskeleton ความหมายตรงตัว คือ ระบบโครงกระดูกภายนอก เทคโนโลยีนี้ คือ การสวมใส่ชุดที่ใช้เพิ่มความสามารถของผู้ใช้งาน ซึ่งการออกแบบและลักษณะจะแตกต่างกันไปตามผู้ผลิต การใช้งาน Exoskeleton สามารถทำให้ผู้ใช้ยกของที่มีน้ำหนักมากกว่าตัวเองได้ ลดอาการบาดเจ็บหรือเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อจากการทำงาน เหมาะสำหรับการทำงานที่ต้องใช้พละกำลังยกของที่มีความหลากหลาย จนระบบอัตโนมัติไม่ยืดหยุ่นพอ เช่น การประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ดังคลิปด้านบน และสามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายไม่ว่าทางการแพทย์หรือทางทหารเช่นคลิปด้านล่างเป็นต้น
https://youtu.be/GH3vVUUQDT4
-
Augmented Reality/Virtual Reality
ความต้องการทักษะแรงงาน: ต่ำ
เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) เป็นเทคโนโลยีที่สนับสนุนการทำงานผ่านการจำลองโลกเสมือนให้กับผู้ใช้งาน โดยสามารถเป็นทั้งการนำเสนอคู่มือคำแนะนำระหว่างการทำงาน หรือทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรึกษาการซ่อมเครื่องจักร ทั้งยังสามารถใช้ในการฝึกทักษะแรงงานได้อีกด้วยเช่นกัน
-
Health/Tracking Technology
ความต้องการทักษะแรงงาน: ต่ำ
เทคโนโลยีสวมใส่ที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปในท้องตลาดปัจจุบันด้วยราคาที่ไม่สูงมากนัก เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) หรือแม้แต่สมาร์ทโฟนธรรมดา ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยในการตรวจสอบสภาวะร่างกายของแรงงานเพื่อเฝ้าระวังอาการผิดปรกติได้ เช่น การเต้นของหัวใจ หรือใช้ในการติดตามบุคคลที่ทำงานในพื้นที่อันตรายเพื่อเฝ้าระวังหากเกิดเหตุอันตรายขึ้น หรือสำรวจการเดินในคลังสินค้าเพื่อหาแนวทางการจัดพื้นที่คลังสินค้าให้สะดวกยิ่งขึ้น
-
COBOT
ความต้องการทักษะแรงงาน: สูง
COBOT หรือ Collaborative Robot คือ หุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่สามารถปฏิบัติงานร่วมกับมนุษย์ได้โดยไม่ต้องมีรั้วกั้นเพื่อความปลอดภัย มาพร้อมกับระบบนิรภัยและเซนเซอร์ตรวจจับที่สร้างความปลอดภัยให้กับผู้ร่วมทำงาน การทำงานร่วมกับ COBOT หรือตั้งค่าทั่วไปนั้นไม่ใช่เรื่องยากหากจะเรียนรู้ และการดูแลรักษา COBOT ก็เป็นทักษะที่ช่วยยกระดับแรงงานได้ แต่การเขียนโปรแกรมหรือตั้งค่าการใช้งานตามโปรแกรมสำเร็จรูปยังต้องการทักษะความเข้าใจที่ค่อนข้างสูง
https://www.youtube.com/watch?v=ZPUvA98uSj8
-
Industrial Internet of Things
ความต้องการทักษะแรงงาน: ปานกลาง
Industrial Internet of Things (IIoT) เป็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องจักรต่าง ๆ เข้าด้วยกันผ่านเครือข่าย Internet เพื่อการรายงานการทำงานรวมถึงการควบคุมจากนอกสถานที่แบบ Real Time ซึ่งการใช้เพียงติดตามข้อมูลและรายงานผลอาจใช้ระดับทักษะปานกลางเพื่อดำเนินการ ในขณะที่การแก้ไขปรับปรุงนั้นต้องการระดับทักษะที่สูงและมีความเข้าใจต่อระบบพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง
https://www.youtube.com/watch?v=eKzzoRYXBmc
เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ของมนุษยชาติล้วนเกิดขึ้นเพราะความขาดแคลนและปัญหาที่พบ เมื่อใดที่เทคโนโลยีนั้น ๆ กลายเป็นตัวแปรในผลักดันอุตสาหกรรม เมื่อนั้นแรงงานก็กลับมีความสำคัญมากขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วเช่นกัน แรงงานในยุคปัจจุบันยังมีโอกาสในการก้าวหน้าโดยอาศัยทักษะในการควบคุมเทคโนโลยี ซึ่งการปรับตัวและการเรียนรู้ถือเป็นจุดแข็งของมนุษย์ที่แม้แต่ Machine Learning หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ยังไม่อาจทำได้ทั้งหมด
หากจะอยู่รอด ต้องเริ่มเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพพื้นฐานตั้งแต่วันนี้ วันที่ทั้งแรงงานและเทคโนโลยีต่างมีข้อจำกัดแต่เติมเต็มซึ่งกันและกัน ‘ปัญหาด้านแรงงาน’ จะหมดลงหากเพียงแรงงานรู้จักปรับตัว
อ้างอิง:
- https://www.mckinsey.com/business-functions/operations/our-insights/human-plus-machine-a-new-era-of-automation-in-manufacturing
- https://www.fastcompany.com/40462489/robots-automation-labor-look-at-history-industrial-revolution-moshe-vardi
- https://www.isranews.org/thaireform-other-news/54159-ooo.html