‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ เปิดงานประจำปี สศอ. OIE Forum 2566 พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย เผยวาระเร่งด่วน 6 ด้าน หนุนภาคอุตฯ – ผู้ประกอบการไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
‘นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดงานและปาฐกถาพิเศษในงานประจำปี OIE FORUM 2566 ครั้งที่ 15 ‘MIND : Set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทย สู่ความยั่งยืน’ จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่การเติบโตที่ยั่งยืน เผยวาระเร่งด่วน 6 ด้านสำคัญเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง และเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานประจำปี OIE FORUM 2566 ‘MIND : Set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ ความยั่งยืน’ หัวข้อ ‘“’ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืน’ จัดโดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจและสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ การแข่งขันในภูมิภาคและสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าทั่วโลก รวมถึงความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยอยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ตลอดเวลา
ครั้งแรกของโลก! โดรนส่งสินค้าขนาดยักษ์ในฟาร์มกังหันลมได้รับการทดสอบแล้ว
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก เป็นผลมาจากการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน รวมทั้งผลจากการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยวที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยารักษาโรค อุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นต้น แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ตลอดจนภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย ที่เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และความสามารถในการชำระหนี้ของคนไทย โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ซึ่งจะมีการผลักดันเรื่องการพักหนี้ให้กับผู้ประกอบการ SME ตามนโยบายรัฐบาล โดยหาแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น การพักเงินต้น การพักดอกเบี้ย โดยไม่สร้างปัญหา Moral Hazard หรือการจงใจผิดชำระหนี้ของลูกหนี้ ขณะที่ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิต ภาคเกษตรและส่งผลต่อเนื่องมายังวัตถุดิบที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรอื่น ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทยทุกกลุ่มให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดวาระเร่งด่วน 6 ด้านสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1. อุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นอุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ครอบคลุมสินค้าที่เกี่ยวข้อง อาทิ การผลิตแบตเตอรี่ แผงวงจร 2. อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด ‘เศรษฐกิจนำอุตสาหกรรม’ โดยนำมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม มาเป็นเครื่องมือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมฮาลาล ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค (Halal Hub) ควบคู่กับการขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อและเป็นฐานลูกค้ามุสลิมรายได้สูงของไทย รวมถึงยาและเครื่องสำอาง และสปาฮาลาล 3. อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการปรับปรุงกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรมให้เข้มงวดขึ้น 4. มุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้การบริการ และการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปรับปรุงฐานข้อมูลภาคอุตสาหกรรมให้เป็นระบบ 5. การส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ให้มีความเข้มแข็งและอยู่รอดได้ ภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ผ่านกลไกของหน่วยงานภายในกระทรวง และ 6. การเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น นำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว สามารถนำพาประเทศไทยก้าวข้ามวิกฤตต่าง ๆ และเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต
ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งสู่ ‘อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ’ ที่ ‘เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน’ ใน 4 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 ด้านความสำเร็จทางธุรกิจ มิติที่ 2 ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน นอกจากนี้ เพื่อยกระดับการทำงานสู่รัฐบาลดิจิทัล กระทรวงอุตสาหกรรมได้เปิดแพลตฟอร์ม การบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม (i-Industry) ให้ลูกค้าของกระทรวงอุตสาหกรรมลงทะเบียนเพื่อเข้าถึงบริการของกระทรวงในด้านต่าง ๆ ทั้งการอนุมัติ อนุญาต การชำระค่าธรรมเนียม การส่งเสริมพัฒนาให้คำปรึกษาทางธุรกิจ รวมถึงการรายงานข้อมูลการประกอบกิจการผ่านระบบ iSingleForm เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ดัชนีอุตสาหกรรม ออกแบบนโยบายและสร้างกลไกการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างตรงประเด็น ประกอบกับการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงาน ภายใต้กฎหมายของกระทรวงอย่างเข้มข้น ครอบคลุม 4 ด้าน คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการมีการประกอบกิจการที่ดี ลดข้อขัดแย้งและขจัดปัญหาข้อร้องเรียนของชุมชนและสังคม
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า สำหรับงานประจำปี OIE FORUM 2566 ถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เข้าสู่ปีที่ 15 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีนำเสนอมุมมอง และแลกเปลี่ยนแนวคิดในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่การเติบโตที่สมดุลและยั่งยืน ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล โดยการจัดงานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้นกว่า 2,000 คน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ สื่อมวลชน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป แบ่งเป็นผู้เข้าร่วมงาน ณ สถานที่จัดงาน จำนวนกว่า 550 คน และผู้เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ (Live Streaming) จำนวน 1,500 คน โดยภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ‘ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืน’ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม การกล่าวถึงผลการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงเสวนาในหัวข้อ ‘MIND : Set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน’ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากแวดวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำนวน 11 เรื่อง ตลอดจนการเสวนาออนไลน์ 3 หัวข้อย่อย เผยแพร่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 วัน โดยหัวข้อที่ 1 ‘Manpower : ยกระดับแรงงานยุคใหม่ พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน’ หัวข้อที่ 2 ‘Empowering Innovation & Digital Transformation : เสริมพลัง สร้างอนาคตอุตสาหกรรมไทย’ และหัวข้อที่ 3 ‘Next Moves to Net Zero : อุตสาหกรรมไทย ก้าวต่อไปสู่เป้าหมายโลก’