Intelligent Asia Thailand 2025
ส.อ.ท. จับมือ กระทรวงพลังงาน จัดงาน Energy Symposium 2023

ส.อ.ท. จับมือ กระทรวงพลังงาน จัดงาน Energy Symposium 2023

Date Post
11.10.2023
Post Views

ส.อ.ท. จับมือ กระทรวงพลังงาน จัดงาน Energy Symposium 2023 เจาะลึกเทคโนโลยีพลังงาน ลดโลกร้อน

วันนี้ ( 11 ตุลาคม 2566) สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.) จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2023 ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายของอุตสาหกรรมไทยกับความผันผวนด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีพลังงานในกระแสภาวะโลกร้อน” เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และผู้สนใจทั่วไปได้รับทราบนโยบายด้านพลังงาน สถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจและพลังงาน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทิศทางของแผนพลังงานชาติ ความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมไทยในการรับมือกับภาวะโลกร้อน รวมถึงการรองรับเทคโนโลยีพลังงานอนาคต เพื่อนำไปใช้ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ยังส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมให้เข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงาน ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางการแข่งขันในระดับประเทศ ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถือเป็นรากฐานสำคัญ ในการพัฒนาขีดความสามารถ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมที่พลังงานถือเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์พลังงานของประเทศ ต้องเจอกับความท้าทายในการหาทางออกที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของเศรษฐกิจ การเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีพลังงาน กระแสภาวะโลกร้อนที่ก้าวเข้าสู่ภาวะโลกเดือด และภาวะความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมไทยและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องร่วมกันปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายที่กำลังจะมาถึงนี้อย่างเร่งด่วน

MilliMobile หุ่นยนต์จิ๋วสุดล้ำยกระดับความปลอดภัยในโรงงาน

ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ในฐานะตัวแทนภาคอุตสาหกรรมเล็งเห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์ด้านพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงร่วมมือกับกระทรวงพลังงานในการขับเคลื่อนแนวทางการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐด้วยดีมาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อผลักดันให้มีการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม การส่งเสริมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มมูลค่า ตลอดจนการใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อมุ่งเน้นการผลิตที่ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม 

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกว่ายังคงมีความผันผวนจากหลายเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดของวิกฤตความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ การขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันจนถึงสิ้นปีของซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางอีกหลายแห่งในโลก ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุน สภาพเศรษฐกิจ และต้นทุนพลังงานทั่วโลกได้รับผลกระทบ ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับทั่วโลก ที่ผ่านมา ค่าไฟฟ้าซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของทุกภาคส่วนมีการปรับตัวสูงขึ้นตามความผันผวนของต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากราคา LNG ปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดโลกจากสาเหตุความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งภาครัฐเองก็พยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือให้ค่าไฟฟ้ามีความเหมาะสม ไม่ให้กระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการในการแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจนเกินไป อาทิเช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ช่วยแบกรับส่วนต่างต้นทุนเชื้อเพลิงในช่วงราคาพลังงานผันผวน การบริหารจัดการเชื้อเพลิงอื่นที่ใช้ผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสมในช่วง LNG ราคาสูง เป็นต้น ซึ่งต้องขอบคุณทุกส่วนที่ร่วมมือกันอย่างเต็มที่และทำให้ผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าวมาได้ 

ตัวอย่างเรื่องค่าไฟฟ้าเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในผลกระทบต่อสถานการณ์พลังงานของประเทศ ในอนาคตยังคงมีปัจจัยอื่นๆ อีกรอบด้านที่จะคอยเร่งให้ประเทศ รวมถึงทุกภาคส่วนต้องปรับตัวรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งด้านเศรษฐกิจที่มีความผันผวน นวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานที่มีส่วนเข้ามาผลักดันให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หรือการผลิตด้วยพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านภาวะโลกร้อนที่เข้าสู่ยุคภาวะโลกเดือดที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยปัจจุบันจะเห็นว่าประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น จนประชาคมโลกให้ความสำคัญสูงขึ้นมาก และเริ่มมีการนำนโยบายเชิงบังคับมาใช้อย่างจริงจัง เช่น สหภาพยุโรปที่เริ่มใช้ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) เพื่อผลักดันให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกตระหนักถึงการปรับตัวดังกล่าว 

ประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประเทศนำเข้าพลังงาน จำเป็นต้องวางแผนและปรับตัวอย่างมาก โดยสถานการณ์พลังงานของประเทศในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ที่ผ่านมาแนวโน้มการใช้พลังงานขั้นต้นสูงขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนในครึ่งปีหลัง จากสภาพเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหลังจากประเทศมีรัฐบาลที่มั่นคง ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายพลังงานจากหลากหลายด้าน คาดการณ์ว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในช่วงสิ้นปีร้อยละ 2.5 ถึงร้อยละ 3 จากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ส่งผลให้แนวโน้มการใช้พลังงานที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นภาครัฐจึงเร่งออกมาตรการช่วยเหลือและส่งเสริมทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้น จะมีการปรับลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันและค่าก๊าซให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับส่งเสริมระยะยาวด้วยแผนพลังงานชาติ NEP สอดคล้องกับแนวทางการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) โดยมีแนวทางสำคัญที่จะเป็นทิศทางด้านพลังงานของประเทศในด้านต่างๆ ดังนี้

•  ด้านไฟฟ้า เน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วนพลังงานทดแทน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ระบบไมโครกริด ตลอดจนการผลิตเอง ใช้เอง (Prosumer) ที่มากขึ้น รวมถึงมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้า เพื่อรองรับการผลิตเองใช้เองดังกล่าว

•  ด้านก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่เป็นพลังงานสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเน้นการเปิดเสรีและการจัดหาเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบพลังงานประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะต้องวางแผนการสร้างสมดุลระหว่างการจัดหาในประเทศ และการนำเข้า LNG เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายหรือ LNG Hub

•  ด้านน้ำมัน ยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศในปัจจุบัน แต่จะได้รับผลกระทบจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ขยายตัวขึ้น ดังนั้น จะต้องมีการปรับแผนพลังงานภาคขนส่ง และพิจารณาการบริหารการเปลี่ยนผ่านการสร้างความสมดุลระหว่างผู้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

•  ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะมีการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนในทุกภาคส่วนให้มากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากทุกภาคส่วนให้เข้มข้นมากขึ้น

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในแง่มูลค่าเพิ่มและการจ้างงาน โดยภาครัฐให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวและพัฒนาขีดความสามารถ ภายใต้สภาวะวิกฤตพลังงาน และกระแสโลกที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน 

สำหรับความท้าทายของอุตสาหกรรมไทยกับความผันผวนด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีพลังงานในกระแสภาวะโลกร้อน จะมีส่วนกระตุ้นให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้องด้านพลังงาน เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการร่วมกันพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเร่งยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ควบคู่ไปกับพัฒนาองค์กรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับกระแสโลกร้อน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน อันนำไปสู่ความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์
Intelligent Asia Thailand 2025