ส.อ.ท. เผย ข้อมูลสถานการณ์และแนวโน้มอุตสาหกรรม ปี 2567 มีโอกาสเติบโต จากปัจจัยสนับสนุนทั้งภาคการส่งออกการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สรุปผลการประเมินแนวโน้ม 46 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 5 ภูมิภาค ในปี 2567 พบว่า แนวโน้ม 46 กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นมีทั้งหมด 22 กลุ่มอุตสาหกรรม,กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะทรงตัวมีทั้งหมด 11 กลุ่มอุตสาหกรรม, และกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะหดตัวลงมีทั้งหมด 13 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา และสำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรม 5 ภูมิภาค โดยอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกคาดว่าจะขยายตัวได้ ส่วนอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ คาดว่าจะทรงตัว ขณะที่อุตสาหกรรมในภาคกลาง คาดว่าจะหดตัวลง
Toyota เตรียมลงทุน 400 ล้านสร้างโรงงานแห่งที่ 3 ภายในอินเดีย
โดยมีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยห่วงกังวลที่คาดว่าจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมดังนี้
1. ปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้แก่
1.1 อานิสงส์จากความต้องการสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว
1.2 เป้าหมายการบรรลุความตกลงการค้าเสรี (FTA) ได้ภายในปี 2567 เช่น ไทย-ศรีลังกา,
ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) รวมถึงการเร่งเจรจา FTA ไทย-อียู (EU) และไทย-กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ให้สำเร็จโดยเร็ว จะช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างมาก
1.3 ความผันผวนของค่าเงินบาทที่อยู่ในระดับต่ำ และมีอัตราเหมาะสมทั้งผู้ส่งออก/ผู้นำเข้า
1.4 แนวโน้มคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป จีน เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มอ่าวอาหรับ GCC
1.5 ผู้ประกอบการได้มีการลงทุนใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เนื่องจากมีราคาที่ถูกลงโดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ เพื่อลดต้นทุนด้านค่าไฟฟ้า
1.6 ทิศทางราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงจากปัญหาขาดแคลนที่คลี่คลาย และมีการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ ทดแทน
2. ปัจจัยห่วงกังวลที่คาดว่าจะกระทบต่ออุตสาหกรรม ได้แก่
2.1 ทิศทางค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูงและปัญหาหนี้ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT)
2.2 ปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์และสงครามในรัสเซีย-ยูเครน, อิสราเอล-กลุ่มฮามาส ยืดเยื้อกระทบต่อราคาพลังงานโลกเพิ่มขึ้น
2.3 การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่สูงเกินไป ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต
2.4 ต้นทุนทางการเงินยังอยู่ในระดับสูงจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น และความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ
2.5 ผลกระทบจากสินค้าที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาตีตลาดลูกค้าในกลุ่มอาเซียน กระทบต่อการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
2.6 ปัญหามาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTM/NTB) เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสริมว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2567 ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวดีขึ้นได้จากผลของฐานต่ำ เนื่องจากปีที่ผ่านมาในหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออกเผชิญปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ซึ่งในปี 2567 แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตได้มาจากปัจจัยสนับสนุนทั้งภาคการส่งออกสินค้าที่จะกลับมาขยายตัวได้ การลงทุนภาคเอกชนที่จะฟื้นตัวตาม ภาคการท่องเที่ยวที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่องผ่านมาตรการฟรีวีซ่า และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ใหม่ๆ จากเป้าหมายการบรรลุ FTA ได้ภายในปี 2567 เช่น ไทย-ศรีลังกา, ไทย-EFTA และไทย-UAE เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าของไทยได้เพิ่มขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนจากทั้งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และสงครามที่เกิดขึ้น รวมถึงสถานการณ์การเมืองโลก โดยเฉพาะการเลือกตั้งในประเทศสำคัญที่จะจัดขึ้นในปีนี้ อีกทั้งสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ยังยืดเยื้อและอาจรุนแรงขึ้น และยังมีผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงเกี่ยวกับภัยธรรมชาติมากขึ้น ความท้าทายเหล่านี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
สำหรับปี 2567 ส.อ.ท. ยังคงให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นเป้าหมายสำคัญภายใต้ข้อเสนอ ส.อ.ท. ทั้งการปรับปรุงกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ การเร่งเจรจา FTA เช่น ไทย-EU และไทย-GCC การส่งเสริมการลงทุนและการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย การส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการ SME รวมถึงการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อเสริมสร้างรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าต่อไป