สสว. จับมือ สอวช. ลงนามความร่วมมือยกระดับศักยภาพด้านนวัตกรรมผู้ประกอบการ SME ให้เติบโตก้าวกระโดดเป็น High-Growth Firm และต่อยอดโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่เป้าหมาย GHG Net Zero
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( สสว. ) เปิดเผยภายหลังลงนามความร่วมมือกับ นายกิติพงศ์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในการยกระดับศักยภาพด้านนวัตกรรม และแนวทางการปรับใช้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy: BCG) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ฉบับนี้ จะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันประเทศให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางโดยอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญ
โดยเป็นการสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อยกระดับศักยภาพด้านนวัตกรรมของ SME ให้เป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม หรือ Innovation-Driven Enterprise (IDE) และมีศักยภาพเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน (High-Growth) ผ่านการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้มีความเข้มแข็ง ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการการพัฒนาธุรกิจ BCG เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (GHG Net Zero) ภายในปี 2025 และสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจที่เกี่ยวข้องผ่านกลไกด้านการพัฒนาขีดความสามารถ แพลตฟอร์มความร่วมมือ การวิจัยและพัฒนา กฎระเบียบและแรงจูงใจทางการเงินการคลัง เครื่องมือการลงทุน รวมถึงการส่งเสริมการขายและการส่งออกอีกด้วย
นายกิติพงศ์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนนี้จะตอบโจทย์เป้าหมายของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ในการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่มีรายได้เกินกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย ภายในระยะเวลา 5 ปี และจากการที่ประเทศไทยได้ร่วมแสดงเจตนารมณ์ในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ร่วมกับอีกกว่า 60 ประเทศทั่วโลก จึงต้องมีการส่งเสริมและต่อยอดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทยจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “พลิกโฉม SME สู่ Innovation-Driven Enterprise (IDE) ด้วย BCG Model” โดยมี นายกิติพงศ์ และนายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( สสว. ) ร่วมเสวนากับตัวแทนผู้บริหารจากบริษัทยุคใหม่ที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจ ได้แก่ นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคม Global Compact Network Thailand นายธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล ผู้บริหารบริษัทเครื่องหนังแบรนด์ “THAIS” และนางสาวไอยรีลดา จิรโชคชยานันทร์ ผู้บริหารโรงแรม The Motifs Eco Hotel