สสว.อัดงบ 5 หมื่นล้านบาท ช่วย SME

สสว.อัดงบ 5 หมื่นล้านบาท ช่วย SME

Date Post
29.06.2020
Post Views

สสว. จัดงบ 5 หมื่นล้าน หนุนเอสเอ็มอีชายขอบที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ คาดมีผู้ประกอบการกว่า 7.65 แสนรายจะได้รับความช่วยเหลือ พร้อมเร่งปรับระเบียบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เปิดช่องให้เอสเอ็มอีในท้องถิ่น เข้าถึงเม็ดเงินกว่า 4 แสนล้านบาท เผยปี 2563 สสว.ช่วยเอสเอ็มอีไปแล้วกว่า 1.46 แสนราย ตั้งเป้าทั้งปี 2563 ช่วยเหลือเอสเอ็มอี 2.26 แสนราย

สสว.อัดงบ 5 หมื่นล้านบาท ช่วย SME

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เดินทางมาตรวจเยี่ยมและประชุมมอบนโยบายการช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แก่ผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมี นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมการประชุม

นายสมคิด เปิดเผยว่า แนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และไมโครเอสเอ็มอีทีได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการชายขอบที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ โดยได้จัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ ที่ไม่เคยได้รับสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และ ไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน วงเงินงบประมาณ 50,000 ล้านบาท คาดว่าผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือ จำนวน 765,000 ราย

โดยกลุ่มเป้าหมาย จะเป็นผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาที่มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่ง ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือนิติบุคคล และวิสาหกิจชุมชนที่มีการจดทะเบียน หรือที่ไม่ได้จดทะเบียน แต่จะต้องมีคุณสมบัติหลักๆ 3 ข้อ ได้แก่

1. เป็นสมาชิก สสว.

2. เป็นผู้ประกอบการ SME ที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบัน

3. ผู้ขอสินเชื่อต้องไม่ผิดนัดชำระหนี้ หรือค้างชำระค่างวดตามเงื่อนไขไม่เกิน 4 งวด ในโครงการพลิกฟื้น SMEs และโครงการฟื้นฟู SMEs ของ สสว.เป็นการเติมพลังต่อทุนให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2563 สำหรับรายละเอียดเงื่อนไขและกติกาต่างๆ จะแจ้งให้ทราบภายหลังจากที่ผ่านการประชุมคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ สสว. จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เนื่องจากงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในแต่ละปีมีวงเงินสูงมาก โดยในปี 2562 มีมูลค่าตลาดภาครัฐทั้งหมดกว่า 1.3 ล้านล้านบาท หากช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงโครงการจัดซื้อจัดจ้างได้ 30 เปอร์เซ็นต์ จะสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการกว่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่ามาตการดังกล่าว จะแล้วเสร็จในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม 2563 นี้ ซึ่งจะเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเอสเอ็มอีอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ แนวทางสนับสนุนจะมี 2 แนวทาง ได้แก่  

1. กำหนดโควตาการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ของวงเงินจัดซื้อจัดจ้างในหมวดสินค้าและบริการที่กำหนด ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการ เข้าถึงตลาดภาครัฐได้ รวมทั้งหน่วยงานรัฐจะต้องคัดเลือกจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการในจังหวัดก่อน แต่หากไม่มีสินค้าหรือบริการในจังหวัดจึงจะคัดเลือกจากผู้ประกอบการนอกจังหวัดได้ เพื่อให้เกิดการกระจายโอกาสให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่น

2. กำหนดแต้มต่อด้านราคา โดยหน่วยงานรัฐจะต้องให้แต้มต่อกับผู้ประกอบการที่เสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดได้ 10 เปอร์เซ็นต์ในกรณีที่ใช้การประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ที่ใช้เกณฑ์ราคาต่ำสุด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงาน จะกำหนดหมวดสินค้าและบริการที่ให้การส่งเสริม จากนั้นจะเข้าไปสร้างการรับรู้ให้กับผู้ประกอบการ โดยการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศ ได้รับรู้สิทธิประโยชน์และเข้ามาขึ้นทะเบียนกับ สสว. จัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการ และสินค้า จัดทำระบบสืบค้นข้อมูลผู้ประกอบการตามจังหวัดและสินค้า เพื่อให้หน่วยงานรัฐเข้ามาค้นหาได้สะดวก

นอกจากนี้ จะจัดอบรมหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย และกองทุนฯ เพื่อให้มีความพร้อม ซึ่งจะเริ่มใช้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างแบบใหม่ภายในปีงบประมาณ 2564 และจะมีการติดตามผลทุกปี เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยให้หน่วยราชการรายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างจากเอสเอ็มอี ประจำปี

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์
Store Master - Kardex