iscar

สสว.เสนอ 3 มาตรการช่วยผู้ประกอบการรายย่อย

Date Post
09.04.2020
Post Views

สสว. เปิดผลสำรวจเอสเอ็มอีหาแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้ผ่านวิกฤตโควิด-19 อย่างตรงจุด เตรียมชง 3 มาตรการช่วยเหลือด่วน หารือกรมบัญชีกลาง เปิดโควตาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้กับเอสเอ็มอี กำหนดวงเงินจัดซื้อจากรายย่อย ตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือ 77 จังหวัด จัดหาผู้เชี่ยวชาญ 2.7 พันคนลงพื้นที่ช่วยเอสเอ็มอี

นางสาว วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) อย่างรุนแรง ซึ่งจากผลสำรวจพบว่าจะมีเอสเอ็มอีที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 1.33 ล้านราย และกระทบกับแรงงานกว่า 4 ล้านคน

ดังนั้น รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ สสว. สำรวจความคิดเห็นของเอสเอ็มอี ว่าต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้มาตรการที่ออกมาตรงกับความต้องการของเอสเอ็มอีมากที่สุด โดยจากผลการหารือกับภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผนวกกับผลการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการรายย่อยโดย สสว. จำนวน 2,728 ราย ใน 6 ภูมิภาค

จากผลสำรวจ พบว่ามาตรการที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมารองรับปัญหาเหล่านี้อย่างทันท่วงที ได้แก่ การลดภาระค่าใช้จ่ายค่าน้ำ การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า  การขยายระยะเวลาการยื่นแบบภาษีเงินได้ การลดค่าเช่าให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ความรับผิดชอบของรัฐและหน่วยงานท้องถิ่น และการอุดหนุนให้มีการจ้างงานต่อไป

พร้อมกับการจัดให้มีสภาพคล่องในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่มีเงื่อนไขปล่อยกู้ผ่อนปรนกว่าเดิม ประกอบด้วย

1. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงิน 1.5 แสนล้าน

2. มาตรการชำระหนี้เงินต้นลดดอกเบี้ยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) , ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) , ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าไปสนับสนุน

3. การผ่อนปรนหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

4. ให้ผู้ประกอบการนำรายจ่ายค่าจ้างลูกจ้างที่ทำประกันตนมาหักภาษีได้ 3 เท่า เพื่อสร้างเสถียรภาพการจ้างงานให้กับเอสเอ็มอีในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย (ไมโครเอสเอ็มอีที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท) ทั่วประเทศ โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้มองว่าสิ่งที่ต้องการอันดับหนึ่ง คือ อยากให้ภาครัฐเพิ่มมาตรการคัดกรอง สุ่มตรวจ รวมถึง แจกหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกันโรคให้ถึงระดับชุมชน เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นและภูมิภาคมีความมั่นใจในการออกไปจับจ่ายใช้สอยตามตลาดและย่านการค้า ส่วนอันดับสอง คือ การส่งเสริมและการขยายตลาดเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนออกมาซื้อสินค้าและบริการ เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

“ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนหลีกเลี่ยงการไปจับจ่ายใช้สอยในห้างร้านขนาดใหญ่ และหันไปซื้อของตามร้านค้าขนาดเล็กภายในชุมชน หรือสั่งซื้อแบบออนไลน์มากขึ้น ผู้ประกอบการในท้องถิ่นจึงต้องการให้รัฐเพิ่มระดับมาตรการด้านสาธารณสุขให้เข้าถึงระดับชุมชน โดยเฉพาะย่านการค้าขนาดเล็ก”

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยืดเยื้อ สสว. ได้เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพิ่มเติมอีก 3 ประการ ได้แก่

1. สสว. กำลังดำเนินการร่วมกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้กำลังศึกษามาตรการต่างๆ ที่อาจนำมาใช้ได้ คือ การกำหนดโควต้าจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไว้ให้เอสเอ็มอีเป็นการเฉพาะ เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในประเทศสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ , การให้แต้มต่อด้านราคาแก่เอสเอ็มอี , การกำหนดประเภทสินค้า เช่น อาหารและเครื่องดื่มให้เป็นวงเงินจัดซื้อจัดจ้างเอสเอ็มอี และการกำหนดวงเงินจัดซื้อจัดจ้างขนาดย่อย ( Micro Purchase) ให้เป็นการซื้อจากผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีตลาดภายในประเทศเพิ่มมากยิ่งขึ้น

“ผู้ประกอบการรายย่อยหรือไมโครเอสเอ็มอีทั่วประเทศมีประมาณ 2.6 ล้านราย คิดเป็น 86% ของเอสเอ็มอีทั้งหมด ส่วนใหญ่พึ่งพาตลาดภายในประเทศ ดังนั้นในระหว่างที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ภาครัฐและเอกชนควรหารือกันเพื่อแก้ไขกฎระเบียบให้เอสเอ็มอีรายย่อยสามารถเข้าถึงการจัดซื้อภาครัฐได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจทั้งระบบให้อยู่รอดผ่านช่วงวิกฤตในครั้งนี้ไปได้”

2. สสว. ได้มอบหมายศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร (OSS) ทั่วประเทศ 77 จังหวัด ให้ทำการสำรวจและรับข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการ รวบรวมปัญหาและความต้องการช่วยเหลือที่เกิดขึ้น รวมถึงส่งต่อผู้ประกอบการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ โดย สสว. ได้ศึกษาปัญหาและผลกระทบต่อเอสเอ็มอีจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนเป็นตัวอย่าง ซึ่งรัฐบาลจีนมีมาตรการช่วยเหลือแต่เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงข่าวสาร ดังนั้น สสว.จึงเห็นว่าศูนย์บริการเอสเอ็มอีครบวงจรของสสว.จะทำหน้าเป็นตัวกลาง เชื่อมต่อเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหากับหน่วยงานที่มีมาตรการช่วยเหลือโดยตรง ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่ตัองการความช่วยเหลือสามารถติดต่อศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร (OSS) แต่ละจังหวัด หรือโทรสายด่วน 1301

3. สสว. ได้ดำเนินการโครงการ Train the Coach โดยรวบรวมและขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อเป็นที่ปรึกษาเชิงลึกหรือโค้ชให้กับผู้ประกอบการ โดยได้มีการพัฒนาโค้ชแยกตามกลุ่มต่างๆ ดังนี้ กลุ่ม Biz Mentor จำนวน 547 คน กลุ่ม Tech Expert จำนวน 2,133 คน และกลุ่ม Biz Transformer จำนวน 20 คน รวมจำนวนโค้ชที่ขึ้นทะเบียนไว้ในระบบทั้งสิ้น 2,700 คน หลังจากสำรวจและรวบรวมปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่แล้ว สสว. พิจารณาส่งที่ปรึกษาเหล่านี้ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแนะนำในการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ต่อไป

 ส่วนโครงการพัฒนาผู้ประกอบการทั้งกลุ่มเริ่มต้นธุรกิจและผู้ประกอบการทั่วไปกว่า 30,000 ราย ในปีนี้ สสว. ได้ปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ โดยจะมุ่งไปที่การลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งจะจัดหานวัตกรรมใหม่ๆประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และการจัดทำมาตรฐานสินค้าและบริการ รวมทั้งเน้นการพัฒนาศักยภาพในการเชื่อมโยงธุรกิจ Offline to Online (O2O) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อความอยู่รอดของธุรกิจมากขึ้นในยุคที่การบริโภคหนีโควิด-19 ไปจับจ่ายสินค้าทางออนไลน์

ในขณะที่การส่งเสริมด้านการตลาด จากการที่ผู้ประกอบการไม่สามารถไปออกตลาดในต่างประเทศได้ สสว.จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบมามุ่งเน้นตลาดภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหาแนวทางความช่วยเหลือผู้ประกอบการจากภาวะการรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing เช่นการเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาเสริม เป็นต้น

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์
Intelligent Asia Thailand 2025