Eastern Economic Corridor (EEC) หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ต่อยอดความสำเร็จแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ Eastern Seaboard ที่ผลักดันประเทศให้มีการพัฒนาด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 8% ต่อปี เป็นเวลากว่า 30 ปี ทำให้ในปัจจุบันมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเป็นต้นทุนเดิม สร้างการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการกว่า 100,00 อัตราต่อปี
นโยบาย EEC นั้นมีความต้องการที่จะพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจและยกระดับทรัพยากรมนุษย์ โดยการดึงดูดนักลงทุนจากภายในประเทศและนักลงทุนข้ามชาติ ภายใต้การส่งเสริมพื้นที่เป้าหมาย 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เตรียมความพร้อมสำหรับสำหรับการลงทุนอุตสาหกรรม Super Cluster และอุตสาหกรรมเป้าหมายในฐานะพื้นที่อุตสาหกรรมระดับโลก
โอกาสที่เปิดกว้างสำหรับอุตสาหกรรมในอนาคต
ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและติดพื้นที่ทางทะเลทำให้มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังมีกำลังซื้อสูงจาก ASEAN จีนและอินเดีย ทำให้พื้นที่ EEC เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การลงทุนอย่างยิ่ง
ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเดิมสามารถมีนโยบายในการยกระดับความสามารถเพิ่มขึ้น เช่น การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา กำหนดเขตส่งเสริมนวัตกรรม EEC บริเวณวังจันทร์วัลเล่ย์ สร้างเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ตั้งนิคมอุตสาหกรรม Smart Park รวมถึงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและโครงข่ายรถไฟ ในขณะที่เป็นฐานอุตสาหกรรมด้านพลังงานซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญ ศักยภาพเหล่านี้จะเป็นตัวผลักดันความสำเร็จในการแข่งขันระดับนานาชาติอย่างครบวงจร
นอกเหนือจากนโยบายเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานแล้วนโยบายส่งเสริมการลงทุนเบื้องต้นดังนี้
- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนานสูงสุด 15 ปี
- ยกเว้นอากรขาเข้า เครื่องจักร วัตถุดิบ ที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกและของที่นำเข้ามาเพื่อ R&D
- เงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัยและพัฒนาส่งเสริมนวัตกรรมหรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
- อนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม
- สิทธิ์การเช่าที่ดินราชพัสดุ 50 ปี สามารถพิจารณาต่ออายุได้อีก 49 ปี
- อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยที่มีคุณสมบัติตรงตามกำหนดที่ตรงกับความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
- ระบบ One-Stop Service สำหรับอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนภายในจุดเดียว
- วีซ่าการทำงาน 5 ปี ดึงดูดนักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก
มาตรการส่งเสริมการลงทุนของ EEC มีการคาดการณ์ว่าสามารถดึงดูดการลงทุนได้มากกว่า 1.9 ล้านล้านบาทจากภาคเอกชน (SCB Economic Intelligence Center) โดยนโยบายที่เกิดขึ้นสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ซึ่งนโยบายและแนวทางของ EEC สอดคล้องไปกับเทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี สร้างโอกาสและการเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจของโลก
กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายอย่างเป็นทางการ แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) และกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) มีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม ถือเป็นกลุ่มที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญเป็นและมีศักยภาพในการผลิต โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมจะได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาเพื่อให้สอดรับกับแนวนโยบายใหม่พร้อมการสนับสนุนด้านการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมดังนี้
- ยานยนต์สมัยใหม่
- อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
- การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
- อาหารแห่งอนาคต
- อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ นับเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากเทรนด์ความต้องการของตลาดโลก รัฐบาลกำหนดขึ้นเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยพร้อมกับเทคโนโลยีและความต้องการยุคใหม่ มีกลุ่มอุตสาหกรรมดังนี้
- เครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์
- การบินและโลจิสติกส์
- เคมีชีวภาพและปิโตรเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ดิจิทัล
- การแพทย์ครบวงจร
เพราะ EEC ไม่ได้ส่งผลดีแค่ภาคการผลิต
ผลกระทบของ EEC นอกเหนือจากการยกระดับการแข่งขันทางเศรษฐกิจและศักยภาพของอุตสาหกรรมแล้ว ยังส่งผลกระทบเกี่ยวกับการจ้างงานและอาชีพของผู้คนในพื้นที่ใกล้เคียงจากการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 1 แสนอัตรา นอกจากนี้การลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง ส่งผลถึงการดำรงชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากภาคอุตสาหกรรมในวงกว้าง สร้างความเจริญในพื้นที่อย่างครบวงจร นำทางสู่ความเป็นไปได้ทางธุรกิจอันหลากหลายและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากการดึงดูดการลงทุนในพื้นที่
นอกจากนี้ความพร้อมของพื้นที่ EEC นั้นยังเหมาะสมให้เกิดธุรกิจ Start-Up หรือกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลในรูปแบบของธุรกิจสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี ทำให้ภาคธุรกิจสามารถเติบโตได้ทัดเทียมกับต่างประเทศเช่นกัน
EEC วันนี้เพื่อความเป็นหนึ่งในวันข้างหน้า
จากความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่มีต่อนโยบายภาครัฐ EEC กลายเป็นเหมืองทองที่น่าลงทุนสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ ด้วยความพร้อมซึ่งเป็นทุนเดิมจาก Eastern Seaboard มาถึงการต่อยอด EEC ทำให้เกิดการขยายตัวขึ้นแล้วในภาคส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต เช่น การขยายสายการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าของ BMW
ในส่วนของนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐและ BOI นั้นมีการสนับสนุนแยกตามประเภทกิจการและสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการรวม นอกจากนี้ยังมีสิทธิพิเศษด้านภาษีสำหรับพื้นที่ในเขต EEC ที่สามารถสร้างโอกาสในการซื้อตัวบุคคลากรที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในพื้นที่ การลงทุนระบบอัตโนมัติรวมถึงเทคโนโลยีและงานวิจัย ทำให้ EEC กลายเป็นห้างสรรพสินค้าสุดหรูที่เต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์อันเป็นที่ต้องการ สร้างภาพลักษณ์และการจดจำในฐานะขุมทองอุตสาหกรรมแห่ง ASEAN
ที่มา:
- http://www.eeco.or.th
- https://www.scbeic.com/th/detail/product/3544
- http://www.boi.go.th/upload/content/BOI-EEC%20announcement-20170517_33689.pdf